นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานมีมติอนุมัติตามที่ กพท.เสนอการกำหนดกรอบเพดานค่าโดยสารสายการบินในอัตราใหม่ สำหรับสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) ที่เพดานสูงสุดไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร และสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) เพดานสูงสุดไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร
เงื่อนไขสำหรับเพดานไม่เกิน 13บาทต่อกิโลเมตรนั้น ในค่าโดยสารที่จัดเก็บจะต้องมีบริการในเรื่องโหลดกระเป๋าสัมภาระได้ 20 กิโลกรัม มีบริการอาหารและเครื่องดื่ม และสามารถกำหนดที่นั่งได้ หากไม่มี 3 บริการดังกล่าวหรือมีไม่ครบทั้ง 3 บริการจะไม่เข้าข่ายและอยู่ในกลุ่มโลว์คอสต์ที่ต้องใช้ค่าโดยสารเพดานสูงสุดไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร
หลังจากนี้จะเสนอให้ รมว.คมนาคม ลงนามในประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งภายในประเทศ คาดว่าจะลงนามและมีผลบังคับในเดือน ก.ย. นี้
สำหรับสายการบินที่มีการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าก่อนที่ประกาศจะมีผลบังคับใช้จะไม่มีผลใดๆ ซึ่งเพดานดังกล่าวจะใช้สำหรับสายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ โดยค่าเฉลี่ยปัจจุบันสายการบินโลว์คอสต์คิดค่าโดยสารราว 5 บาทต่อกิโลเมตร เพราะมีการแข่งขันทางการตลาด ขณะที่จะมีการคิดค่าโดยสารเต็มเพดาน 13 บาทต่อกิโลเมตร จะเป็นการขายบัตรโดยสารที่ซื้อแบบกระชั้นกระชิด หรือช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีความต้องการเดินทางมากเท่านั้น
"หลังจากประกาศกรอบเพดานค่าโดยสารใหม่จะช่วยให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้จองล่วงหน้าสามารถซื้อบัตรโดยสารหน้าเคาน์เตอร์ได้ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีสายการบินโลว์คอสต์บางรายที่แจ้งต่อ กพท.ในการคิดคิดค่าโดยสารที่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร หลังจากนี้จะต้องมาแจ้งกับ กทพ.ใหม่ตามเพดานที่ประกาศใหม่ ส่วนสายการบินที่เคยแจ้งในราคาที่ไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตรอยู่แล้วไม่ต้องแจ้ง กทพ. เช่น สายการบินนกแอร์ เคยแจ้ง กทพ.เกิน 9.40 บาทในบางเส้นทางก็จะต้องแจ้งใหม่
"ยกตัวอย่าง เส้นทางที่มีระยะทาง 500 กม. เพดานสูงสุดที่ 13 บาท/กม.ค่าโดยสาร จะอยู่ที่ประมาณ 6,500 บาท แต่ปรับเพดานมาที่ 9.40 บาท/กม. ค่าโดยสารสูงสุดจะไม่เกิน 4,600 บาท เป็นต้น" นายจุฬา กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการห้วงอากาศ เพื่อพิจารณาในการใช้พื้นที่ทางความมั่นคงของทหาร มาปรับใช้ในการบินเชิงพาณิชย์บางห้วงเวลา และคำสั่ง กบร.เรื่อง จัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการห้วงอากาศ ซึ่งจะทำให้การบริหารจราจรทางอากาศมีความยืดหยุ่นและจัดสรรเส้นทางการบินได้มากขึ้น ลดระยะทางการบินและการบินวนรอ ของสายการบินได้ โดยคาดว่า รมว.คมนาคม จะลงนามในประกาศในเดือน ก.ย.นี้
อีกทั้งได้เห็นชอบประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดเขตบริเวณใกล้เคียงสนามบินตราดเป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศยาน พ.ศ. .... ซึ่งตามขั้นตอนจะเสนอให้ รมว.คมนาคม ลงนามในประกาศภายในเดือน ก.ย.นี้ และมีผลบังคับใช้ใน 60 วัน โดยในระหว่างนี้ได้มอบหมายให้บมจ. การบินกรุงเทพ (BA) ในฐานะเจ้าของและผู้บริหารสนามบินตราด ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย