นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานกระบี่ และท่าอากาศยานขอนแก่น ระหว่างกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และ บมจ. คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) หรือ CNT เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบิน และเป็นไปตามตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะแรก (2558 – 2561) และตามแผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยาน ปี 2560 – 2564 เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค
โครงการก่อสร้างและปรับปรุงขยายท่าอากาศยานกระบี่และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น เป็นโครงการที่อยู่ในแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะแรก (2558 – 2561) ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติ ประกอบกับที่ตั้งของไทย และจำนวนผู้โดยสารของสนามบินภูมิภาคของ ทย.ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปี ทำให้ต้องมีการขยายขีดความสามารถเพื่อรองรับการเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบราง ถนนและสนามบิน ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยจะมีอันดับที่ดีขึ้น โดยให้ทย.จัดทำแผนในการขยายสนามบินกระบี่ในระยะต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2562 ทย.ได้จัดตั้งงบประมาณอีกกว่า 4,000 ล้านบาทในการประมูลเพื่อก่อสร้างขยายอาคารผู้โดยสาร และเพิ่มความยาวทางวิ่ง ของสนามบินตรังและนครศรีธรรมราช และให้นโยบายในการออกแบบอาคารให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด มีความสวยงาม ให้ผู้โดยสารได้ใช้พื้นที่สะดวก
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า ปัจจุบันสนามบินกระบี่ มีพื้นที่ 2,620 ไร่ ทางวิ่งยาว45X3,000 เมตร ลานจอดเครื่องบินสามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้งได้ 10 ลำในเวลาเดียวกัน รองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คน/ชั่วโมง หรือ 4.32 ล้านคน/ปี โดยการพัฒนาภายใต้งบกว่า 3,875 ล้านบาท ได้แก่ 1. งานอาคารที่พักผู้โดยสาร หลังที่ 3 และปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร หลัง1,2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ ออกแบบโดย บริษัท สำนักงานออกแบบระฟ้า จำกัด และบริษัท เซ้าท์อีสท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างฯ 2. งานก่อสร้างลานจอดเครื่องบินพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าทีพีพีซี โดยมีบริษัท วีเอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท กรุงเทพ เอ็นยิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างฯ แล้วเสร็จปี 2565 เพิ่มศักยภาพรับผู้โดยสาร โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3,000 คน/ชั่วโมง หรือ 8 ล้านคน/ปี และ รับเครื่องบินโบอิ้งได้พร้อมกัน 40 ลำ
ส่วนสนามบินขอนแก่น มีพื้นที่ 1,113 ไร่ รันเวย์ยาว 45X3,050 เมตร ลานจอด รับเครื่องบินโบอิ้งได้พร้อมกัน 5 ลำ รองรับผู้โดยสารได้ 1,000 คน/ชั่วโมง หรือ 2.88 ล้านคน/ปี มีอาคารที่พักผู้โดยสารพื้นที่กว่า 14,500 ตารางวา และมีจำนวนที่จอดรถ 610 คน แผนลงทุนกว่า 2,043 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ พร้อมอาคารจอดรถยนต์ ออกแบบโดย บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัดแล้วเสร็จปี 2564 รับผู้โดยสารเป็น 2,000 คน/ชั่วโมง หรือ 5 ล้านคน/ปี จอดรถได้ 1,160 คัน
นอกจากนี้ ทย. มีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัดจำนวน 25 แห่ง พร้อมทั้งศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างท่าอากาศยานใหม่ทุกภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการคมนาคมขนส่งทางอากาศได้อย่างเท่าเทียม ได้รับบริการที่ดีที่สุดในระดับมาตรฐานสากล และผลักดันให้ท่าอากาศยานของไทยเป็นศูนย์กลางการบิน ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และขับเคลื่อนอนาคตไทยไปสู่ความยั่งยืน