น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เผยผลประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 32 ซึ่งประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ติดตามผลการดำเนินการด้านการค้าสินค้าของอาเซียนภายใต้แผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในส่วนการค้าสินค้าของสมาชิกนั้น พบว่า ในปี 60 การค้ารวมของอาเซียนมีมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อนหน้า และเป็นสัดส่วนการค้าระหว่างสมาชิกกว่า 23% ปัจจุบันสินค้ากว่า 98.7% ของรายการทั้งหมดมีอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็น 0% แล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมอบหมายให้สมาชิกทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าให้แก่สมาชิกอาเซียนโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่สมาชิกอาเซียนบางประเทศทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นนอกอาเซียน และให้สิทธิประโยชน์ประเทศอื่นนอกอาเซียนดีกว่าให้แก่สมาชิกอาเซียน โดยให้รายงานผลภายในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในเดือน มี.ค.62
ส่วนในเรื่องการขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า (NTB) รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้มุ่งเน้นการลดและยกเลิก NTB ระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ เวียดนามได้ยกเลิกการจำกัดปริมาณนำเข้าไข่ไก่และเกลือแล้ว และอยู่ระหว่างหารือภายในประเทศเพื่อยกเลิกการจำกัดปริมาณนำเข้าน้ำตาล นอกจากนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้กระตุ้นให้สมาชิกหารือและเร่งรัดการพิจารณาแก้ไข NTB อย่างจริงจัง
สำหรับเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้านั้น รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้รับทราบรายงานผลการสำรวจผลสัมฤทธิ์ของการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน โดยสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้จัดทำขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินแนวทางดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมาย ลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้าภายในภูมิภาค 10% ภายในปี 63 และเพิ่มการค้าภายในภูมิภาคเป็น 2 เท่าภายในปี 68 ซึ่งผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า การดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่สมาชิกดำเนินอยู่ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก และไทยอยู่ในกลุ่มที่มีความก้าวหน้า 3 อันดับแรกของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยไทยมีคะแนนสูงในด้านความโปร่งใสและเผยแพร่ข้อมูลกฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ ต่อสาธารณะ รวมทั้งมีกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดย ERIA อยู่ระหว่างการศึกษาตัวชี้วัดด้านอื่นๆ และจะรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 61
นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้รับรองเอกสาร 2 ฉบับ คือพิธีสารฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เพื่อให้สามารถใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนเป็นระบบเดียวกัน (ASEAN-Wide Self-certification) ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ ATIGA สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องไปขอรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากภาครัฐ และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในขั้นตอนการขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า
รวมถึงให้การรับองเอกสารแนวปฏิบัติสำหรับการดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งกำหนดแนวทางการออกมาตรการ NTB ของอาเซียน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมทางการค้าระหว่างกัน และลดผลกระทบจากการบิดเบือนทางการค้า