นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิป สนช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 ส.ค. ที่ประชุมฯ จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วาระ 2 และวาระ 3 ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน พิจารณาเสร็จสิ้น โดยงบประมาณยังคงเป็นไปกรอบวงเงินเดิม คือ 3 ล้านล้านบาท แต่มีการปรับวงเงินจำนวน 24,222,829,100 บาท เพื่อนำจัดสรรเพิ่มเติมให้หน่วยงานอื่น
รายการเพิ่มเติมสูงสุด 3 อันดับแรกคือ 1. งบกลาง ตั้งเพิ่มขึ้น 9 พันล้านบาท สำหรับแผนงานเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2. รัฐวิสาหกิจ ตั้งเพิ่มขึ้นกว่า 7.2 พันล้าน บาท (7,222,852,000) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ดำเนินการโครงการตามนโยบายรัฐ แต่ประสบปัญหาด้านการผลิต การตลาดทำให้ภาระหนี้สินเพิ่ม และเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ในโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย และ 3.กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 2.5 พันล้านบาท สำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ทั้งนี้มีรายการเพิ่มเติมที่น่าสนใจ อาทิ งบในส่วนของแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งเพิ่มขึ้น 1.8 พันล้านบาท สำหรับโครงการปรับปรุงชลประทาน โครงการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ รวมถึงกระทรวงกลาโหม ได้รับงบเพิ่มเติม 307,738,800 บาท สำหรับสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม เงินอุดหนุนการบริหารองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 138 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งเป็นของกองทัพบก 169 ล้านบาท เพื่อให้มีความพร้อมการปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้งบประมาณแผนบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้รับเพิ่มเติม 287,014,300 บาท เพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) เฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ขณะที่ หน่วยงานรัฐสภาได้รับงบเพิ่ม 161,039,200 บาท แบ่งเป็นสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 105,000,000 บาท เพื่อการบริหารและอำนวยการทั่วไป และพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สนช. 56,039,200 บาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติ
โดยหน่วยงานที่ได้งบประมาณมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ กระทรวงศึกษาธิการ 174,958,321,100 บาท รองลงมาคือ กระทรวงกลาโหม 117,583,067,200 บาท กระทรวงคมนาคม 55,028,332,800 บาท และกระทรวงมหาดไทย 36,526,341,600 บาท
ทั้งนี้ตลอด 5 ปี ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการคำนวณตัวเลขการใช้จ่ายเงินงบประมาณตั้งแต่การรัฐประหารในเดือน พ.ค.2557 จนถึงงบประมาณปี 2562 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นปีสิ้นสุดการทำงานของ คสช. พบว่ามียอดเงินรวมกว่า 14 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณขาดดุลติดต่อกันทุกปี รวม 2.1 ล้านล้านบาท ขณะที่งบของกระทรวงกลาโหม ที่ถูกจับตา ตลอด 5 ปี ได้รับอนุมัติรวมแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท (9.38 แสนล้านบาท) และที่น่าสนใจงบประมาณในส่วนของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ได้รับการเสนอในวงเงิน 40,000 ล้านบาท ไม่มีการถูกตัดลดงบประมาณลงแต่อย่างใด
พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษก กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ภาพรวมในการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ได้มีการตรวจสอบงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานเสนอมาซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งได้มีการปรับลดงบประมาณในบางหน่วยงานลง แต่ก็มีการโยกงบประมาณไปให้หน่วยงานที่มีความจำเป็นและขอแปรญัตติเพิ่มเติมมา
โฆษก กมธ.ฯ ยืนยันว่า การพิจารณาได้ยึดหลักความเหมาะสมและความจำเป็น พร้อมทั้งใช้ความระมัดระวังในการปรับเพิ่มงบประมาณในหน่วยงานที่ถูกจับตา โดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ถูกปรับเพิ่มกว่า 300 ล้านบาท เนื่องจากกองทัพบกจำเป็นต้องใช้ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทัพ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงการปรับเพิ่มงบประมาณของกลุ่มจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องระมัดระวัง แม้ว่าจะเป็นช่วงที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลมีเจตนาในการตั้งงบประมาณเพื่อต้องการกระจายงบประมาณลงพื้นที่และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็น