นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน"Thailand Focus 2018" และปาฐกถาพิเศษ"การปฏิรูปประเทศไทย"ว่า ขณะนี้โอกาสเป็นของประเทศไทย และไทยจะก้าวสู่การปฏิรูปในสิ่งที่ดีกว่า จากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้อาเซียน โดยเฉพาะ กลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) ที่เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของเอเชีย ด้วยการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดเฉลี่ย 6-8% ในช่วงศตรวรรษที่ผ่านมา มีประชากรรวมกว่า 200 ล้านคน เป็นแหล่งแรงงานสำคัญ ซัพพลายเชน ในภูมิภาค
นอกจากนี้ Belt and Road ของประเทศจีนที่ผ่านไทยผ่านทะเลจีนใต้ และการที่ญี่ปุ่นกำลังผลักดัน CPTPP และความร่วมมือ Indo Pacific Partnership ที่ขับเคลื่อนโดยสหรัฐ อินเดีย และญี่ปุ่น เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ RCEOP ที่มีอาเซียนบวก 6 ที่ครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลกในปลายปีนี้
ทุกแนวคิดจึงมีอาเซียนและ CLMV เป็นจุดศูนย์กลางทั้งสิ้น ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นจุดศูนย์กลางการค้าและการลงทุน ล่าสุด การประชุม ACMECS ที่มีไทยเป็นเจ้าภาพ ได้มีการประกาศแผนพัฒนาร่วมกันครั้งแรก ซึ่งมีชาติใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ออสเตรเลีย หรืออังกฤษ และฝรั่งเศส ก็สนใจเข้าร่วม ทำให้ไทยอยู่ในจุดที่น่าสนใจต่อการลงทุนสูงสุด โดยการลงทุนนั้น ไม่ใช่มุ่งเข้าสู่ไทยอย่างเดียว และยังเพื่อรุกไปสู่ CLMVT และประเทศในอาเซียนด้วย จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยแล้ว
ขณะที่ 5 ชาติ (CLMVT) ได้จัดทำแผนแม่บทร่วมกันใน 3 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาร่วมกันในการเชื่อมต่อคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การคมนาคม การค้า การลงทุน พลังงาน และ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน โดยมีไทยเป็นจุดศูนย์กลาง หรือเป็นศูนย์กลางเกื้อกูลประเทศเพื่อนบ้านให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
"ไทยเป็นจุดศูนย์กลางในเชิงภูมิรัฐศาตร์ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในไทย เพราะไม่ใช่ลงทุนแค่ประเทศไทย แต่เข้าไปสู่ 4 ประเทศที่อยู่รอบ ๆ เช่น หัวเว่ย เจดีดอทคอม ทุกบริษัทใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง นี่เป็นโอกาสของประเทศไทย แต่เราจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา เราต้องทำตัวเองให้เข้มแข็ง ให้ดีที่สุด" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่เพียงเข้ามาซ่อมแซมประเทศ แต่ได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญและปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินการขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ หลังจากประเทศหยุดการพัฒนาโครงการใหญ่มานานเกือบ 30 ปี และหยุดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมานาน 10-20 ปี แต่ขณะนี้มีการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าเพิ่ม 10 เส้นทางที่กำลังก่อสร้าง และยังอยู่ระหว่างการประมูล โครงการรถไฟทางคู่ โครงการถไฟไทย-จีน โครงการพัฒนาท่าเรือต่าง ๆ
นอกจากนี้ การก้าวจากประเทศที่ผลิตสินค้าราคาต่ำเปลี่ยนไปสู่การเน้นสร้างวิทยาการและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ และได้มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่คาดว่าจะสามารถแข่งขันได้ในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่จะมีการลงทุนมหาศาล โดยรัฐบาลได้กำหนดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รองรับการลงทุนขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าโครงการมหาศาลรองรับการเติบโตในอนาคต ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และ ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 , เมืองการบิน ทั้งนี้ จะมีการลงทุนในช่วง 5 ปีแรก มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งต่อไปจะเชื่อมโยงไทยและกลุ่ม CLMV ไปสู่โลก
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แหล่งเงินทุนในการลงทุนโครงการของภาครัฐจะมาจากทั้งงบประมาณแผ่นดิน การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนภาครัฐ(PPP) และ การออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยจะเริ่มจำหน่ายได้ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ทั้ง 3 แหล่งนี้จะช่วยให้มีสมดุลในการลงทุนที่จะไม่ให้มีหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่เกิน 40-50% เพราะไทยเป็นประเทศ conservative อดีตสอนเรื่องที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งว่าจะไม่ทำอะไรเกินตัว
อีกเรื่องที่รัฐบาลกำลังผลักดันคือเรื่องดิจิทัล ที่เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง และกำลังเปลี่ยนผ่านจะระบบอนาล็อก เปลี่ยน Business Model รัฐบาลไทยกำลังเข้าไปสู่ E-Government และอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต รวมกับการพยายามลดอุปสรรคการลงทุน ประเทศไทยได้รับการยกระดับความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น ล่าสุดไทยได้รับการยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านโลจิสติกส์
ส่วนตลาดทุนของประเทศ ปัจจุบันมีความเข้มแข็งเป็นจำนวนมาก เมื่อย้อนหลังไป 4-5 ปีที่แล้วตลาดหุ้นไทยซบเซามาก เพราะบ้านเมืองช่วงนั้นสับสนวุ่นวายดัชนี SET เฉลี่ยที่ 1,400 จุด แต่ขณะนี้ดัชนีขึ้นมาอยู่ที่ 1,700 จุดโดยเฉลี่ย มุลค่าตลาดกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 16% ของ GDP เมื่อเทียบกับ 4 ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านล้านบาท หรือ 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นความชัดเจนของการเติบโตของตลาดหุ้นไทยในเวลาเพียง 4 ปี และในเวลาที่รัฐบาลเข้ามาฟื้นฟูประเทศ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นมาประมาณ 2 ล้านล้านบาท นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนใน 4 ปีที่ผ่านมา
"เราใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ผมจะไมให้เสียเวลาไปแน่นอน ผมเคยเป็นรัฐมนตรีคลัง เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการเรียกร้องให้ปฏิรูป แต่การเมืองในเวลานั้นไม่เอื้อเลย แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ ในช่วงที่ทุกอย่างมีเสถียรภาพ เราสามารถปักหมุด เราสามารถปักหลัก สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในอนาคตข้างหน้า และผมก็เชื่อว่า สิ่งที่เราวางพื้นฐานไว้ในอนาคตข้างหน้าจะตอบสนองเราดีมากๆ"นายสมคิดกล่าว
พร้อมกล่าวอีกว่า ตลาดทุนไทยเผชิญกับวิกฤตมายาวนาน บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ลงทุนเพียงในประเทศไทย แต่ลงทุนใน CLMV และ ทั่วโลก แต่สิ่งสำคัญภูมิศาสตร์กำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่จะเกิดขึ้นกำลังจะเป็นจริง อย่างโครงการ EEC แม้ว่าเกิดมา 2 ปีครึ่ง แต่มีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนแล้วราว 6.7 แสนล้านบาท
ที่สำคัญ กระทรวงมิติของญี่ปุ่นได้พานักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 คนมาดูพื้นที่ EEC เมื่อปลายปีที่แล้ว และเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา จีนได้นำนักลงทุนจีนกว่า 600 คนที่มีทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจของจีน 32 แห่งที่เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ติด TOP5 ของ Fortune 500 มาร่วมด้วย
นายสมคิด ตั้งคำถามว่า หากประเทศไทยไม่มีอนาคตจะมากันแบบนี้หรือ และกล่าวว่า ศักยภาพของประเทศไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติเรามีความพยายามผลักดันให้ตลาดทุนของไทยเป็นตลาดทุนภูมิภาค ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพในอนาคตของประเทศไทย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้วที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นภาวะเศรษฐกิจไทยตกต่ำมาก โดยมีอัตราเติบโตเพียง 0.9%เท่านั้น แม้มีวิกฤติอย่างมากในประเทศ แต่ก็ถือเป็นโอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศอย่างจริงจัง โดยด้านเศรษฐกิจ มีภารกิจสำคัญ 2 ข้อคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่น และเร่งปฏิรูปเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันและรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ใน 3 ปีที่ผ่านมา ภารกิจแรกให้ลุล่วงแล้ว เศรษฐกิจขยายตัวจาก 0.9% ในปี 57 เพิ่มเป็น 2.9, 3.2, 3.9% ใน 58-60 และครึ่งแรกปีนี้อยู่ที่ 4.8% สะท้อนความมั่นคงและเสถียรภาพ การประเมินตัวเลขสถาบันต่างๆ ที่มีการปรับตัวเลขชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง ดัชนีทุกตัวสะท้อนความเข้มแข็ง ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม การส่งออกเพิ่มกว่า 10% การบริโภคในประเทศขยายตัว การลงทุนขยายตัวต่อเนื่องทั้งภาครัฐและเอกชน มูลค่าการลงทุนที่ขอส่งเสริมบีโอไอเพิ่มขึ้นจาก 6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 58 เป็น 19 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 60 และมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง การลงทุนต่างประเทศก้าวกระโดดจาก 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 60