ผู้ว่าธปท.ระบุพื้นฐานศก.ไทยแข็งแกร่งกว่าตลาดเกิดใหม่ แนะภาคการเงินเร่งปฎิรูปรับเทคโนโลยีใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2018 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อนโยบายการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย : ทิศทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ในงาน Thailand Focus 2018 ว่า ในปี 61 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีกว่าที่คาด โดยล่าสุดผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/61 ขยายตัวถึง 4.6% สูงกว่าความคาดหมายของ ธปท. ทั้งนี้เป็นผลจากการเติบโตได้ดีในทุกภาคส่วน ทั้งการส่งออก การบริโภคในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน และสะท้อนว่าผลจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นได้เริ่มกระจายตัวไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวถึงการกำหนดนโยบายการเงินของไทยว่าใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ เป้าหมายเงินเฟ้อ, การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในภาคการเงิน ตลอดจนพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า การติดตามการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักด้วย ส่วนปัจจัยในประเทศต้องติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวภายหลังจากเกิดเหตุเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ประเทศไทยยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับต่อความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความเข้มแข็งมากที่สุดในบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้มีความอิสระที่จะสามารถกำหนดนโยบายการเงินได้เอง แตกต่างจากประเทศเกิดใหม่อื่น ๆ นอกจากนี้ ภาคธนาคารพาณิชย์ของไทยยังมีการกันสำรองอยู่ในระดับสูง และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า แม้ประเทศไทยมีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงินได้เอง แต่ทั้งนี้ก็จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไปด้วยเช่นกัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะไปในทิศทางใดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวถึง fintech ที่ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อระบบการเงินของไทยว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ภาคการเงินการธนาคารของไทยต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้รับกับรูปแบบทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง ธปท., สมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงินอื่น ได้ร่วมกันพัฒนาระบบ e-Payment เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ e-Payment ให้มากขึ้นเพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงิน เช่น ระบบพร้อมเพย์ ที่ประเทศไทยเริ่มใช้เป็นประเทศแรกในเอเชีย โดยล่าสุดมีบัญชีพร้อมเพย์แล้ว 42 ล้านบัญชี ส่งผลให้การคิดค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงการหารือล่าสุดร่วมกับสมาคมธนาคารไทย พบว่าธนาคารพาณิชย์เตรียมที่จะขยายวงเงินการโอนผ่านระบบพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนบาท/รายการ จากปัจจุบันที่สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท/รายการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจมากขึ้น ส่วนการคิดค่าธรรมเนียมนั้นต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการแข่งขันของแต่ละธนาคารพาณิชย์เองว่าจะคิดอัตราใด หรือจะไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมเลย

"ค่าธรรมเนียมของเดิม มีกำหนดอัตราสูงสุดอยู่แล้วว่าเท่าไร แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์ เพราะอย่าลืมว่าเขาก็มีเรื่องค่าใช้จ่ายที่เขาต้องดูแล เพราะเมื่อวงเงินสูงก็มีความเสี่ยงด้วยที่เขาต้องดูแล ฉะนั้นก็จะมีค่าธรรมเนียม แต่ที่สำคัญคือเพิ่มวงเงินให้เขาสามารถที่จะตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น" นายวิรไท กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ