พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม กล่าวในงานสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกับการต่อต้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัล : อาชญากรรมกับ Cryptocurrency"ว่า ปัจจุบันการดูแลเพื่อป้องกันและเผชิญปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีค่อนข้างมีบทบาทมาก ในมิติของการก่ออาชญากรรมทางการเงินมีผลต่อความมั่นคงในอนาคต ซึ่งทุกหน่วยงานจำเป็นต้องศึกษาและวางแผนร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรม การละเมิด และการเอาเปรียบผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมรับทราบปัญหาด้านเทคโนโลยีมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้พยายามจับประเด็นของบล็อคเชนและคริปโตเคอเรนซี มองว่าในภาพรวมมีการใช้ประโยชน์ทางบวกในหลายประเทศ แต่ในหลายกลุ่มยังใช้ประโยชน์ในทางลบ
ขณะเดียวกัน มองว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังมีบทบาทความสำคัญในการดูแลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ตลท.และกระทรวงการคลัง ได้ปรึกษาหารือแนวทางการกำกัลดูแลบล็อคเชนและคริปโตเคอเรนซี แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่สามารถใช้เป็น reference ในการดำเนินคดีได้อย่างเหมาะสม แม้ปัจจุบันมีคณะกรรมการไซเบอร์แห่งชาติแล้ว แต่ก็ยังมีขีดจำกัดในความรู้ความสามารถ จึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้และสร้างเครือขายร่วมกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้เข้าใจในสิ่งที่ทำให้เกิดความเอารัดเอาเปรียบและการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทค่อนข้างสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุน รวมไปถึงการท่องเที่ยว เนื่องจากททุกธุรกิจต่างก็มีการพึ่งพิงเทคโนโลยีเข้ามาในการใช้ประโยชน์ ขณะที่รัฐบาลก็มีการผลักดันตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อต้องการให้ชีวิตคนไทยเดินไปข้างหน้าอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยียังแฝงมาด้วยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมจำเป็นต้องดูแลการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างให้สังคมเกิดความสงบสุข และต้องก้าวทันเทคโนโลยี ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อมบุคลากรที่มีความรู้ทั่วไปและความชำนาญพิเศษรองรับเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ อาทิ บล็อกเชน เพื่อเติมเต็มกระบวนการยุติธรรมและความอยู่ดีกินดีของประเทศ
ด้านนาย Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) กล่าวว่า การจัดสัมนาในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการปรึกษาหารือเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับในคริปโตเคอเรนซี ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นโอกาสในการใช้ประโยชน์เพื่อสร้างนวัตกรรมระดับโลกและระดับท้องถิ่น
แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มอาชญากรข้ามชาติได้มีการหาประโยชน์จากคริปโตเคอเรนซีในการทำธุรกรรมข้ามชาติเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการการทำงานเพื่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องมีการป้องปรามและทุกภาคส่วนจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน
ปัจจุบันการก่ออาชญากรรมไซเบอร์สร้างความเสียหายรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท หรือ 6 พันล้านครั้งต่อปีในภูมิภาค ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในหน่วยงานรัฐและประชาชน UNODC จึงได้มีการจัดตั้งขึ้นในภูมิภาคเอเชียเพื่อสนับสนุนในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการระบุอัตลักษณ์ของภัยคุกคามต่อการใช้งาน และเพื่อคัดกรองการใช้คริปโตเคอเรนซีอย่างผิดกฎหมาย
โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี ซึ่งได้มีการส่งเสริมความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกฏหมายที่แข็งแรง ซึ่ง UNODC ยืนยันในการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อป้องปรามการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์