นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม 2561 ยังคงขยายตัว นำโดย กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวนอัตราเร่ง 21.6% ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลประกอบของบริษัทน้ำมัน สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 45.1% และ 4.3% ต่อปี ตามลำดับจากการขยายตัวใน กทม.และนครปฐม เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 25.9% และ 8.4% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 9,335 ล้านบาท จากการลงทุนในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และสมุทรสาคร เป็นต้น
สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนในเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัว 2.4% และ 13.4% ต่อปีตามลำดับ ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 7.6 % ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และอุบลราชธานี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 21.4% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดยโสธร สกลนคร และ ศรีสะเกษ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 6.2% และ 11.0% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 1,688 ล้านบาท ขยายตัว 46.2% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดบึงกาฬ จากการลงทุนโรงงานผลิตยางแท่ง เป็นต้น
สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 4.6% และ 10.0% ต่อปีตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 91.9 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคมเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ 1.5% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2561 กลับมาขยายตัว 13.7% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช ภูเก็ต และตรัง เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 11.7%ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 8.7% และ 38.7% ต่อปี ตามลำดับ
สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัว 6.6% และ 15.7% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดฝั่งอันดามันจากภูเก็ต และกระบี่ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 1.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 29.4% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 12.6% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 2.7 % และ 25.0 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 3,206 ล้านบาท หรือขยายตัว 93.5% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระแก้ว เป็นต้น
สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.8% และ 13.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 108.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 7.1% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสิงห์บุรี และอ่างทอง เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 62.9% ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 25.6 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและลพบุรี เป็นต้น
สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัว 5.1% และ 9.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 96.6 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 1.0% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ใน เดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวในอัตราเร่ง 38.5% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดราชบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 32.9% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในทุกจังหวัด ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรทรงตัวจากเดือนก่อน
สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัว 3.8% และ 10.7% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 0.6% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกรฎาคม 2561 ขยายตัว 2.6% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 27.6% ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดอุตรดิตถ์ เชียงราย และเชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรทรงตัวจากเดือนก่อน
ด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในมิถุนายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 3.0% และ 6.5% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 96.6 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 0.9% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค