นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงกรณีที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ว่า ความผันผวนของค่าเงินดังกล่าวเกิดจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ปัจจัยที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งปัจจัยเรื่องสงครามการค้า แต่ทั้งนี้ มองว่าเงินบาทยังผันผวนน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในหุ้นและพันธบัตรมากกว่าไทย จึงทำให้ค่าเงินมีความผันผวนมากกว่าไทย
ส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในกรณีที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาพักในตลาดพันธบัตรระยะสั้นของไทยนั้น นายศรพล ให้ความเห็นว่า เป็นเพียงการโยกเงินของนักลงทุนต่างชาติจากการลงทุนในตลาดหุ้นไปยังตลาดพันธบัตรระยะสั้นแทน โดยไม่ได้โยกเงินออกนอกประเทศเป็นเพียงการเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ลงทุน เพราะนักลงทุนต่างชาติยังคงเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ทำให้ค่าเงินบาทได้เปรียบค่าเงินของประเทศในภูมิภาคค่อนข้างมาก
"ต่างชาติจะมีวิธีคิดในการเลือกลงทุนในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตลาดโลกผันผวนสูง นักลงทุนจะปรับน้ำหนักการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ให้น้อยลง ในส่วนของไทยเองก็ถูกปรับ แต่ไม่ใช่การเอาเงินออก เป็นการโยกมาพักในตลาดพันธบัตรแทน" นายศรพลกล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้ว่าฯ ธปท.แสดงความเห็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่นั้น นายศรพล ให้ความเห็นส่วนตัวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย และต้องมีช่วงเวลาที่เหมาะสม คงไม่ใช่การปรับขึ้นอย่างฉับพลัน แต่หากจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ก็มองว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมาก
"ส่วนตัวมองว่าหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงๆ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ เพราะเรามีสภาพคล่องค่อนข้างเยอะ และหากปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ก็เป็นการปรับขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ" นายศรพลกล่าว
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในลาวและเมียนมาจะมีผลกระทบต่อนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศหรือไม่นั้น นายศรพล กล่าวว่า โดยปกติแล้วหลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติก็จะมีการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง ตลอดจนสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ใหม่ ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกิดการจ้างงาน และเกิดการลงทุนในระดับท้องถิ่น เป็นการกระจายเม็ดเงินลงไปในพื้นที่ ส่งผลให้เชื่อว่าเศรษฐกิจลาวและเมียนมาในปีหน้าจะขยายดีได้ดีขึ้น และน่าจะทำให้นักธุรกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการเข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศนี้
ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่เข้าไปลงทุนนั้น คงต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าการลงทุนมีความคืบหน้าไปในระดับใดแล้ว ก่อนที่จะประเมินผลกระทบในภาพรวม ขณะที่ผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม เชื่อว่าเป็นเพียงระยะสั้นประมาณ 3 เดือน จากนั้นสถานการณ์ก็จะค่อยฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ