นายอารีย์พงศ์ ภู่ชะอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สนร.) เผยจะนำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีแปรรูป บมจ.ปตท.(PTT) มาเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติมจากปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินที่ได้จากการเวนคืน
และตามแผนบริหารรัฐวิสาหกิจในปีหน้าจะมีการเสนอรัฐสภาให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประปา ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการประปา(regulator) เพื่อดูแลทั้งด้านการลงทุน และประสิทธิภาพในการบริหารงาน โดย regulator จะเป็นหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระเช่นเดียวกับ regulator กำกับดูแลด้านพลังงาน แต่ยังไม่มีแนวคิดที่จะแปรรูปกิจการด้านการประปา
"ทางมหาดไทยได้ร่างไว้แล้ว รอแค่ให้รัฐบาลผลักดันเข้าสู่สภา เพราะกิจการอะไรที่มีลักษณะผูกขาด ควรจะมี regulator เข้ามาดูแล เช่น การปรับค่าน้ำ" นายอารีย์พงศ์ กล่าว
ส่วนการดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์การถือครองท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. รวมถึงทรัพย์สินที่ได้จากการรอนสิทธิของเอกชนให้กรมธนารักษ์ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ประกอบด้วย ที่ดินจำนวน 32 ไร่ สิทธิเหนือที่ดินเอกชนที่ใช้อำนาจรัฐ รวมถึงท่อก๊าซบนบกและอุปกรณ์จำนวน 3 เส้นทาง คิดเป็นมูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของ ปตท.ทั้งสิ้น 1.1 แสนล้านบาท
นายอารีพงษ์ กล่าวว่า ปตท.กำลังดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยโอนท่อก๊าซธรรมชาติที่ได้ลงทุนสร้างก่อนที่ ปตท.จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด หรือก่อนวันที่ 1 ต.ค.44 ซึ่งก่อสร้างโดยใช้เงินลงทุนของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) และเป็นการได้มาโดยการรอนสิทธิ
สำหรับอัตราค่าเช่าท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงานร่วมกันกำหนดว่าจะคิดอัตราขั้นต่ำ 5% ของค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาตินั้น นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ภายในสามสัปดาห์คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมธนารักษ์จะพิจารณาลงรายละเอียด ว่า สัดส่วนของอัตราค่าเช่าดังกล่าวควรจะมีโครงสร้างอย่างไร
"การพิจารณาค่าเช่าดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงภาระหนี้ที่ ปตท.ลงทุนในการก่อสร้างท่อก๊าซนี้ด้วย" นายอารีพงษ์ กล่าว
ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ได้แปรรูปไปแล้ว เช่น การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.) ได้โอนพื้นที่ทั้งหมดให้กรมธนารักษ์ไปแล้ว ส่วนกรณีของ บมจ.อสมท(MCOT) เป็นหน้าที่ของ กทช. และ กสท.ที่จะต้องพิจารณาในเรื่องคลื่นความถี่ต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--