นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในเดือนกรกฎาคม 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับอุปสงค์ต่างประเทศแม้ชะลอลงบ้าง ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีในทุกหมวดการใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงที่ 8.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 8.2% โดยเป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ 1) สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบขยายตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยเฉพาะเม็ดพลาสติก 2) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะยางล้อและกระปุกเกียร์ รถยนต์นั่ง และรถกระบะ 3) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ยาง และ 4) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง หลังมีการขยายกำลังการผลิตในช่วงก่อนหน้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ อุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้า และแผงวงจร อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนผลผลิตมันสำปะหลัง
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมปรับดีขึ้น ตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการผลิตในหมวดยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุนที่ขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวด ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เทียบกับเดือนก่อนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และเมื่อปรับฤดูกาลแล้ว เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนการฟื้นตัวที่ยังไม่เข้มแข็งเท่ากับการบริโภคภาคเอกชน
"การลงทุนภาคเอกชนเดือนก.ค. ที่ขยายตัวลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าสินค้าทุนลดลงมาก เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำเข้าเครื่องบินและแท่นขุดเจาะน้ำมัน ทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวลดลงมาก แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังการรัฐมีการเร่งโครงการลงทุนจำนวนมาก น่าจะดึงให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นไปด้วย" นายดอน กล่าว
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรและรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าก่อสร้างของกรมชลประทาน และการเบิกจ่ายเพื่อซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นสำคัญ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวชะลอลงที่ 2.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบกับนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก และการอ่อนค่าของเงินรูเบิล อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง ไต้หวัน และมาเลเซียยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 8.0% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงเป็นสำคัญ
"ทางการได้พยายามเร่งทยอยสร้างความเชื่อมั่น ทำให้คาดว่าสถานการณ์จะทยอยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2561" นายดอนกล่าว
มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 12.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 15.3% โดย 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวตามการนำเข้าเชื้อเพลิง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ 2) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 3) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน ขยายตัวต่อเนื่องตามการนำเข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องหล่อพลาสติก และเครื่องจักรเพื่อการก่อสร้าง สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว และ 4) หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน ขยายตัวจากการนำเข้ายานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ สอดคล้องกับการผลิตและยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.46% เร่งขึ้นจาก 1.38% ในเดือนก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน โดยด้านสินทรัพย์เป็นการไหลออกสุทธิจากการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (TDI) และการให้สินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้าในต่างประเทศ ขณะที่ด้านหนี้สินเป็นการไหลออกสุทธิจากการขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการชำระคืนสินเชื่อทางการค้าของผู้นำเข้ากับคู่ค้าในต่างประเทศ
นายดอน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง จากผลของฐานที่สูงในปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าปี 2561 จะขยายตัวได้ 4.5% โดยครึ่งปีแรกขยายตัว 4.8% ดังนั้นครึ่งปีหลังก็คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลดลง ซึ่งก็ใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประมาณการไว้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 4.5 - 4.7%
"ในไตรมาสแรก เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4.9% มาจาการใช้สินค้าคงคลังเป็นส่วนใหญ่ แต่ไตรมาส 2 ขยายตัว 4.6% ชะลอตัวลง แต่เป็นการขยายตัวที่ใช้สินค้าคงคลังเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงแต่คุณภาพการขยายตัวที่ดีกว่า เพราะเป็นการขยายตัวจากการลงทุนใหม่จริงๆ ซึ่งสำคัญมากกว่าการขยายตัวได้มาก แต่ไม่มีการลงทุนใหม่" นายดอน กล่าว