นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ ดีจีเอ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของภาครัฐในการนำบล็อกเชนมาใช้กับงานภาครัฐว่า ประโยชน์ของบล็อกเชนไม่ใช่แค่การนำไปใช้เรื่องเงินดิจิทัล แต่รวมความไปถึงระบบที่จะลดค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากลงด้วยโดยหลักการแล้ว เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นการนำเทคโนโลยีต่างที่มีอยู่แล้ว เช่น การเข้ารหัสข้อมูลขั้นสูง ฐานข้อมูลในแบบกระจายไม่รวมศูนย์ และการรับส่งข้อมูลในแบบกระจาย (peer-to-peer) มารวมกัน กลายเป็นระบบที่จัดการข้อมูลได้โดยไม่ต้องมีการควบคุมจากศูนย์กลาง จึงสามารถมั่นใจในการทำธุรกรรมว่ามีความถูกต้องอย่างสูง เพราะข้อมูลถูกแชร์ให้ทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายของบล็อกเชนเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ลดขั้นตอนและลดเวลาของการทำงานลงอย่างมาก
สำหรับภาครัฐแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพราะลักษณะงานของภาครัฐจำเป็นต้องเชื่อมการทำงานของหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อแชร์ข้อมูลและฐานข้อมูลในการทำงานเป็นเอกภาพ แต่ในปัจจุบันระบบสารสนเทศภาครัฐคงเป็นระบบที่กระจัดกระจายตามไปหน่วยงานต่างๆ ทำให้ข้อมูลเกิดการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อน และยังมีข้อมูลไม่มีความถูกต้องครบถ้วน
ดังนั้นการนำบล็อกเชนมาใช้จะทำให้สามารถบูรณาการข้อมูลให้เป็นชุดเดียวกันอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชน สามารถแชร์ใช้ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสม เช่น ข้อมูลโปรไฟล์ของประชาชนที่ถูกเก็บโดยหลายหน่วยงาน ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งจะได้โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลภาครัฐที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน มีความสะดวกรวดเร็ว และมั่นใจในการใช้งานอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ การเริ่มใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data และการใช้เทคโนโลยี อย่าง Cloud Computing ในการจัดเก็บข้อมูลจะทำให้รูปแบบการจัดการข้อมูลเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จึงต้องมีกรอบการจัดการธรรมาภิบาลข้อมูลของประเทศ ธรรมาภิบาลของข้อมูล หรือ Data Governance
ผลของการมีธรรมาภิบาลข้อมูล คือ จะมีการแบ่งประเภทข้อมูลที่ชัดเจน เกิดมาตรฐานที่จำเป็น มีนโยบายการใช้งานที่เหมาะสม ตามประเภท ไปจนถึงการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐมีความเข้าใจมากขึ้นในการใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐเองก็จะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล อาจจำเป็นต้องมีตำแหน่งผู้บริหารข้อมูลในระดับบริหาร หรือ Chief Data Officer ประจำหน่วยงาน ส่งผลให้กระบวนการทำงานเปลี่ยนไปด้วย นี่คือสิ่งที่เริ่มทำให้ภาครัฐเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล
"เป็นเรื่องไม่ใหม่แต่สำคัญมากสำหรับภาครัฐของไทย เพราะเราไม่เคยชินกับการใช้ข้อมูลในการดำเนินการที่ผ่านมามากนัก เพราะการใช้กระดาษเป็นหลักทำให้หลายขั้นตอนของการจัดการข้อมูลไม่เป็นระบบ พอจะเปลี่ยนเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กระบวนการที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาลเลยต้องมาวางใหม่กันหมด อีกอย่างคือวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล ในการวางแผนยังมีน้อย อาจจะเป็นเพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการวางแผน"