(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ส.ค.61 ขยายตัว 1.62% CORE CPI ขยายตัว 0.75%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2018 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค.61 อยู่ที่ 102.27 ขยายตัว 1.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดคาดจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.51-1.59% และหากเทียบเดือน ก.ค.61 ขยายตัว 0.26%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) อยู่ที่ 102.11 ขยายตัว 0.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.01% เมื่อเทียบเดือน ก.ค.61

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.20 ขยายตัว 0.77% จากช่าวงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.51% เมื่อเทียบเดือน ก.ค.61

ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 102.32 ขยายตัว 2.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.13% เมื่อเทียบเดือน ก.ค.61

ส่งผลให้ช่วง 8 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ส.ค.) CPI ขยายตัวเฉลี่ย 1.12% ส่วน CORE CPI 8 เดือน ขยายตัวเฉลี่ย 0.71%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค.61 สูงขึ้น 1.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 มีสาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดอาหารสด หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมา 2 เดือน รวมทั้งการสูงขึ้นของสินค้าหมวดพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21

ทั้งนี้ การสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากราคาผลผลิตเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ชี้ว่าต้นทุนการผลิตเริ่มมีสัญญาณการปรับตัว ทำให้การสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้นอกจากจะมาจากความต้องการและราคาพลังงานที่สูงขึ้นแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากการปรับตัวของต้นทุนการผลิตสินค้าบางชนิด ทั้งจากการผลิตในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรอีกด้วย

โดยการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในเดือน ส.ค.61 พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 226 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, ส้มเขียวหวาน, ทุเรียน, กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม, ก๊าซหุงต้ม, น้ำมันเชื้อเพลิง, ค่ากระแสไฟฟ้า และบุหรี่ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง 112 รายการ เช่น เนื้อสุกร, น้ำมันพืช, ไข่ไก่, ไก่สด, น้ำยาล้างห้องน้ำ, น้ำยาล้างจาน และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ในขณะที่สินค้า 84 รายการ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนส.ค. เข้าสู่กรอบคาดการณ์เงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์เป็นเดือนที่ 6 แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรบางชนิด แต่เครื่องชี้วัดต่างๆ โดยรวมสะท้อนว่าการบริโภค และการใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับการจ้างงาน การจัดเก็บรายได้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภค

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าต้นทุนการผลิตของสินค้าบางชนิด (การผลิตต้นน้ำและกลางน้ำ) เริ่มได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของราคาพลังงาน รวมทั้งค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวน ประกอบกับอัตราค่าจ้างเริ่มมีสัญญาณขยายตัวได้ในอัตราที่ช้ากว่าเงินเฟ้อ ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น แต่องค์ประกอบของเงินเฟ้อจะมีปัจจัยด้านต้นทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการสำคัญที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก น่าจะทำให้ความต้องการภาคเอกชนยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ในกรอบ 0.8-1.6% และเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ 2.5% บวก/ลบ 1.5% หรือในกรอบ 1-4% สำหรับปีนี้

"เงินเฟ้อในช่วงต่อไปมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ปีนี้ จะอยู่ที่ระดับ 1.5% และทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากอาหาร และน้ำมัน แต่มองว่าราคาน้ำมันช่วงปลายปีน่าจะทรงๆ ตัว คงไม่ได้ขึ้นลงแรงมากนัก ประกอบกับ effect ของการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตก็เริ่มลดลงแล้ว ดังนั้นจึงน่าจะเป็นปัจจัยเรื่องราคาอาหารเป็นหลักที่ทำให้เงินเฟ้อช่วงไตรมาส 4 มีแนวโน้มสูงขึ้น" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

สำหรับกรณีที่รัฐบาลใส่เงินเพิ่มให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิแห่งรัฐ จะส่งผลร้านค้าฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การใส่เงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ทำให้ร้านค้าฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามราคาสินค้าเพื่อไม่ให้ร้านค้าในโครงการปรับขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม

"การใส่เงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการฯ เป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ร้านค้าไม่ควรฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าให้แพงขึ้น แต่เราก็จะเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามราคาสินค้าให้มากขึ้น ไม่ให้ร้านค้าขึ้นราคาโดยไม่เป็นธรรม เบื้องต้นเรามองว่าไม่นาจะส่งผลกระทบให้สินค้าราคาแพงขึ้น" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ