ก.เกษตรฯ ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาปี 60/61 นำร่องอุตรดิตถ์-พิษณุโลก พื้นที่รวม 5,800 ไร่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2018 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา บุญราช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการขับเคลื่อนการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ว่า โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ปี 2560/61 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนาเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้ที่มั่นคง จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สลับกับการทำนา โดยมอบหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งดำเนินการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ปี 2560/61 ในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัด รวม 5,800 ไร่ คือ จังหวัดอุตรดิตถ์ 3,000 ไร่ และจังหวัดพิษณุโลก 2,800 ไร่

ทั้งนี้ รัฐจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือใน 4 เรื่อง คือ 1. สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2. ติดต่อผู้มารับซื้อ 3. ราคาขายที่เป็นธรรม สมเหตุสมผล และ 4. การประกันภัยพืชผล และในส่วนกระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้สมาชิกนำไปลงทุน รายละไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ โดยเป็นเงินก้อนให้สหกรณ์กู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี รวมทั้งจะมีเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล เกษตรอำเภอเข้ามาช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในการเพาะปลูก และกรมชลประทานจะเข้ามาดูแลเรื่องระบบน้ำ

สำหรับอำเภอบ้านหม้อ จ.อุตรดิตถ์ เป็นจุดนำร่องของโครงการที่ใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาขับเคลื่อนตั้งแต่การเพาะปลูก การไถ การพรวนดิน การเก็บเกี่ยว หากสมาชิกไม่มีเครื่องมือ เครื่องจักร สหกรณ์จะช่วยจัดหาผู้รับจ้างมาทำรวมๆ กัน เพื่อลดต้นทุน เมื่อผลผลิตออกแล้วสหกรณ์จะรับซื้อจากสมาชิก และกระทรวงเกษตรฯ จะหาผู้รับซื้อจากสหกรณ์อีกทอดหนึ่ง เบื้องต้นได้ติดต่อผู้รับซื้อคือบริษัทเบทาโก และบริษัทซีพีเอฟ ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งพื้นที่การเพาะปลูก 5,000 ไร่ จะได้ข้าวโพดประมาณ 7,500 ตัน คาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้ 7,500 บาท/ไร่ โดยหักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไร 4,000 บาท/ไร่ มากกว่าการปลูกข้าวที่ได้เพียง 2,000 บาท/ไร่

"สหกรณ์ต้องทำเพื่อสมาชิก ปรับบทบาทจากให้เงินกู้อย่างเดียวมาเป็นการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิก ซึ่งต้องดูแลตั้งแต่การผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ การหาช่องทางการตลาดและเข้ามาเป็นตัวกลางในการดูแลผลประโยชน์ให้สมาชิก สามารถเจรจากับภาคเอกชนในการต่อรองซื้อขายสินค้า โดยสหกรณ์ควรยึดหลักแนวคิดที่สำคัญ คือ การดูแลเกษตรกรทั้ง 7 ล้านครอบครัวให้ลืมตาอ้าปากให้ได้ โดยมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน"รมว.เกษตรฯ กล่าว

นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ตลาดต้องการและให้ผลตอบแทนสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อย มีแนวโน้มตลาดมีความต้องการสูง กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยมีแผนการเตรียมพื้นที่นำร่องเพื่อให้เกษตรกรทดลองเปลี่ยนการทำนามาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สหกรณ์ ดำเนินการในพื้นที่สหกรณ์จังหวัดพิษณุโลกและอุตรดิตถ์

โดยสหกรณ์ได้ทำการคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและข้อมูลสภาพพื้นที่การเพาะปลูกที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงภัยจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตร การจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรสมาชิก เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การคัดเลือกพันธุ์เพาะปลูกให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และรอบการผลิต การตรวจติดตามแปลง การตรวจติดตามคุณภาพ และการบริหารจัดการตลาดโดยสหกรณ์เป็นจุดรวบรวมรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก ซึ่งหากได้ผลดีเกษตรกรมีรายได้สูงกว่าการทำนา จะมีการส่งเสริมและขยายผลไปสู่พื้นที่การเพาะปลูกพืชหลังนาเพิ่มขึ้นอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ