(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนส.ค.อยู่ที่ 83.2 สูงสุดในรอบ 64 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 4, 2018 12:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ 83.2 จาก 82.2 ในเดือนก.ค. 61 โดยความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 64 เดือน

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 70.2 จาก 69.1 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 78.3 จาก 77.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 101.2 จาก 100.2

โดยมีปัจจัยบวกมาจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 2/61 เติบโต 4.6%, สภาพัฒน์ คงคาดการณ์ GDP ปีนี้ไว้ที่ 4.5%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5%, การส่งออกเดือนก.ค.ถือว่ายังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี, เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และ พืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว, สถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม และความกังวลปัญหาสงครามการค้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนส.ค.นี้ เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากที่ปรับลดลงชั่วคราวในช่วง 3 เดือนที่แล้ว เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตที่กลับมาสู่ระดับ 100 อย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 64 เดือน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้น และหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 4.5%

"ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเติบโตที่มาจากการคาดการณ์ในอนาคตช่วง 6 เดือน - 1 ปีข้างหน้าว่าจะปรับตัวดีขึ้นทั้งในเรื่องของรายได้ในอนาคต, สถานการณ์ทางการเมือง และดัชนีความสุข" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผู้บริโภคอาจจะยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันฟื้นตัวแค่ในระดับมหภาค แต่เศรษฐกิจในระดับจุลภาคอาจยังเติบโตได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากเม็ดเงินที่หมุนเวียนในต่างจังหวัดยังไม่โดดเด่นมาก ซึ่งแม้ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดจะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังดีไม่เท่าในช่วง 4 ปีก่อน เช่น ข้าว และยางพารา เป็นต้น ซึ่งสินค้าเกษตรใน 2 ชนิดนี้มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องรวมกันถึง 15 ล้านคน อยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในทางกลับกันเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น ยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในภาคดังกล่าวนี้รายได้ของประชาชนผูกพันกับภาคอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการเกษตรมากกว่า จึงทำให้เศรษฐกิจขยายตัวโดดเด่นกว่าภาคอื่นๆ

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงผลสำรวจภาวะทางสังคมของผู้บริโภคด้วยว่า ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในเดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 100.7 พบว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตมีเสถียรภาพดี ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 20 เดือนนับตั้งแต่ ม.ค.60 และปรับตัวสูงกว่าระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน

"ความเชื่อมั่นในอนาคตต่อทิศทางการเมืองดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากประชาชนมองว่าการเมืองนิ่ง มีเสถียรภาพ เริ่มจะเข้าสู่บรรยากาศการปลดล็อก และให้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองได้บ้าง สถานการณ์บ้านเมืองไม่วุ่นวาย คนจึงมองว่าการเมืองในอนาคตดีขึ้น ซึ่งเป็นตัวเสริมที่ทำให้คนกล้าใช้จ่าย กล้าลงทุน กล้าบริโภค และกล้าท่องเที่ยวมากขึ้น" นายธนวรรธ์ ระบุ

นอกจากนี้ จากผลสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนส.ค. ทั้งดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ และดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว พบว่าดัชนีทุกตัวเริ่มเข้าใกล้ระดับ 100 โดยเฉพาะดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.3 ทำให้เห็นว่ากำลังซื้อในประเทศมีมุมมองในเชิงบวกมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในระดับคนชั้นกลางขึ้นไป

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะแถลงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้ง ในวันที่ 13 ก.ย.61 โดยเบื้องต้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้เกินกว่า 4.5% อย่างแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วง 4.6-5% ขณะที่การส่งออก คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 8-9% อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะยังอยู่ที่ 1.50% ตลอดทั้งปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก จึงไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ส่วนกรณีสงครามการค้า เชื่อว่ายังไม่มีผลกระทบอย่างชัดเจนในปีนี้ แต่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาในปี 62 รวมไปถึงวิกฤติค่าเงิน และปัญหาทางการเมืองในละตินอเมริกา แต่โดยรวมมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคถือว่าเข้าสู่ภาวะขาขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มเข้าสู่การเติบโตในระดับปกติได้ราวไตรมาส 2/62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ