นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เดินสายรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ภาคประชาสังคม ฯลฯ กรณีที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) โดยวันนี้ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, ลำพูน, แพร่, น่าน และพะเยา โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 250 คน
สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอข้อมูลภาพรวมความตกลง CPTPP และประเด็นปลีกย่อยต่างๆ ตั้งแต่การเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน, เกษตร, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, สุขภาพและสาธารณสุข เป็นต้น และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งมีมุมมองทั้งในด้านประโยชน์และผลกระทบ
"ในภาพบวก จะเห็นว่า CPTPP จะช่วยขยายโอกาสการค้าการลงทุนของไทย ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ต้นทุนภาคธุรกิจลดลง ผลักดันและสร้างแรงจูงใจในการพัฒนามูลค่าเพิ่ม และขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยอาจเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และไทยอาจต้องแก้ไขกฎหมายบางเรื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลง" นายสกนธ์ระบุ
อย่างไรก็ดี หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะมีการจัดสัมมนาอีก 3 ครั้ง ที่สงขลา วันที่ 13 ก.ย., กรุงเทพฯ วันที่ 19 ก.ย. และขอนแก่น วันที่ 26 ก.ย. โดยประชาชนหรือผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นหรือศึกษารายละเอียด สาระสำคัญผ่านเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th
สำหรับความตกลง CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้าง ทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า, การค้าบริการ, การลงทุน, การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, ทรัพย์สินทางปัญญา, นโยบายการแข่งขัน, แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย, แคนาดา, นิวซีแลนด์, ชิลี, เปรู, เม็กซิโก, ญี่ปุ่น, บรูไน, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งสมาชิกได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.61
ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบัน คาดว่าจะมีผลใช้บังคับต้นปี 62 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ ดังนั้นไทยจึงยังมีเวลาศึกษาและวิเคราะห์ผลดี-ผลเสียของการเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว ล่าสุด มีประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อังกฤษ, ไต้หวัน และโคลอมเบีย เป็นต้น