นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)แถลงว่า เศรษฐกิจในเดือน พ.ย.50 ขยายตัวได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจสะท้อนถึงบทบาทของรัฐบาลในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายงบประมาณเบิกจ่ายได้รวม 127 พันล้านบาท หรือขยายตัว 14% และเป็นการขยายตัวของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนที่ร้อยละ 10.6 และ 113 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งอัตราการขยายตัวในระดับสูงนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานที่ต่ำของการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ล่าช้ากว่าปกติ
สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนจัดเก็บได้รวม 111.4 พันล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 12.3 ต่อปี โดยภาษีที่จัดเก็บจากฐานรายได้และฐานการบริโภคในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ร้อยละ 13.5 ต่อปี และร้อยละ 14.6 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนถึงรายได้ภาคเอกชนและอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
ภาคการส่งออกขยายตัวในระดับสูงถึง 24.4% โดยมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศและราคาน้ำมัน โดยมีมูลค่ารวมน 12.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 17.4% ซึ่งเร่งตัวขึ้นในด้านการนำเข้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภคภายในประเทศ และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตภาคอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงมากกว่าการนำเข้าค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายนยังคงเกินดุลต่อเนื่องที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (ณ ราคาคงที่) ขยายตัว 11.3% ดีขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.5% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 48.9% เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 13 เดือนมาอยู่ที่ 69.3 โดยปัจจัยหลัก ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น และความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคตมีมากขึ้นตามการปรับขึ้นของเงินเดือนและค่าจ้าง
อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การบริโภคสินค้าคงทนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาหดตัว 14.9% ต่อปี เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการสั่งซื้อรถยนต์เพื่อรอแคมเปญส่งเสริมการขายรถยนต์ในช่วงเดือนธันวาคม 2550
ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยแม้ว่าเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนหดตัว 11.7% แต่หากหักมูลค่าการนำเข้าเครื่องบินที่ทำให้ฐานการนำเข้าในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่สูงผิดปกติ จะพบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน (ที่หักการนำเข้าเครื่องบิน) ยังคงขยายตัว 7.4% นอกจากนั้นปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 5.5% ต่อปี เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามภายหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี
การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี ในขณะที่การผลิตภาคเกษตรหดตัวลดลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัว 13.0% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อใช้จ่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ภาคบริการจากการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย (เบื้องต้น) มีประมาณ 1.35 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 9.8%
ส่วนดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 1.6% เป็นการขยายตัวดีขึ้นของการผลิตยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตสินค้าเกษตรหลัก โดยเฉพาะข้าวนาปี ยังคงหดตัว เนื่องจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 15.3%
เสถียรภาพทั้งภายนอกและภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 84.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนพ.ย.50 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.4% และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นปีงบประมาณ 50 อยู่ที่ 37.8%
อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นมาที่ 3.0% จาก 2.5% ในต.ค.อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.1% จาก 1.0%
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--