(เพิ่มเติม) กบง.เผยผู้ค้าน้ำมันจะลดค่าการตลาดดีเซล ช่วยตรึงราคาไม่เกิน 30 บ./ลิตร พร้อมดึงเงินกองทุนน้ำมันฯเข้าดูแลดีเซล-LPG

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 5, 2018 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์หลังราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเบื้องต้นผู้ประกอบการค้าน้ำมันจะให้ความร่วมมือรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมัน โดยปรับลดค่าการตลาดลงอยู่ในระดับต่ำ ที่ 1.26 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันดีเซล และเพื่อให้สามารถรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาท/ลิตร พร้อมทั้งเตรียมใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ในอัตราไม่เกิน 0.30 บาท/ลิตร

ส่วนการดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้อยู่ในระดับราคาขายปลีก 363 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม (กก.) นั้น โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชี LPG ติดลบได้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท จากเดิมติดลบไม่เกิน 3,000 ล้านบาท

นายศิริ กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ถึงระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ประกอบค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอยู่ในระดับ 33 บาท/เหรียญสหรัฐ ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่มีแนวโน้มสูงมากถึงระดับ 30 บาท/ลิตร

กระทรวงพลังงาน ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับไม่ให้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลอย่างมากนี้ กระทบต่อค่าขนส่งสินค้าและค่าครองชีพของประชาชน ด้วยการจัดให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 ให้แก่กลุ่มรถบรรทุกสินค้า และรถโดยสารสาธารณะ ในราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลเกรดทั่วไป ในอัตรา 3 บาท/ลิตร ซึ่งในสถานการณ์ที่คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงอยู่ในระดับสูง ประมาณ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อีกระยะหนึ่ง กระทรวงพลังงานจึงได้จัดให้กรมธุรกิจพลังงานทำโครงการเผยแพร่และให้คำแนะนำผู้ประกอบการกลุ่มรถบรรทุกสินค้า และรถโดยสารสาธารณะ ที่ยังไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 ในการปรับสภาพและการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้พร้อมเติมน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 โดยติดต่อได้ที่ กรมธุรกิจพลังงาน โทร 0 2794 4011

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการค้าน้ำมันได้ให้ความร่วมมือในการรักษาระดับราคาขายปลีกไม่ให้สูงโดยได้ปรับลดในส่วนของค่าการตลาด ลงอยู่ในระดับต่ำ ที่ 1.26 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันดีเซล และเพื่อให้สามารถรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกระดับไม่เกิน 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปัจจุบันอยู่ที่ 77-78 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กบง. จึงมีมติกำหนดวงเงินการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ในอัตราไม่เกิน 0.30 บาท/ลิตร โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประกาศอัตราชดเชยตามความเหมาะสม

โดยในวันนี้ (5 ก.ย.) มีมติใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อุดหนุนราคาดีเซล 0.15 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.) จะไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ซึ่งตามกรอบวงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะชดเชยราคาขายปลีกดีเซลไม่เกิน 0.30 บาท/ลิตรนั้น คาดวาจะใช้เงินเพื่อรักษาระดับราคาอยู่ที่ราว 180-200 ล้านบาท/เดือน จากประมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่ราว 60 ล้านลิตร/วัน ซึ่งจะทำให้มีการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนไม่เกิน 1 พันล้านบาทจนถึงสิ้นปีนี้

แต่หากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทาง สนพ. จะเสนอมาตรการช่วยเหลือราคาขายปลีกดีเซลต่อไป ซึ่งตอนนี้มีหลายมาตรการที่เหมาะสม จากนั้นจะหารือในที่ประชุม กบง. ต่อไป อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงปรับสูงขึ้น จากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าราคาน้ำมันมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น

"ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่ 60-62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตอนนนี้ 77-78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ที่ผ่านมาทางผู้ค้าน้ำมันก็ยอมให้ค่าการตลาดต่ำเพียง 1.26 บาทต่อลิตร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากที่ควรจะเป็น 1.50 บาทต่อลิตร ดังนั้น กบง. จึงใช้เงินกองทุนฯเพื่ออุดหนุนราคาดีเซล ไม่เกิน 30 สตางค์ต่อลิตร โดยทาง สนพ. จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าจะช่วยในระดับเท่าไร"รมว.พลังงาน กล่าว
นายศิริ กล่าวอีกว่า ส่วนการรักษาเสถียรภาพราคา LPG ณ ปัจจุบันราคา LPG ในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับราคาสูง (CP = 617.50 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน) และกระทรวงพลังงานได้มีนโยบายรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีก LPG ในประเทศที่ 363 บาท/ถัง 15 กก. ทำให้มีการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชดเชยราคาที่ระดับ 6.48 บาท/กก. ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกสุทธิ 804 ล้านบาท/เดือน

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 2 กันยายน 2561 มีฐานะสุทธิ 26,022 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 29,359 ล้านบาท และบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG –3,337 ล้านบาท

กบง. จึงเห็นชอบใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีก LPG ในประเทศที่ 363 บาท/ถัง 15 กก. โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชี LPG ติดลบได้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท และมอบหมายให้สถาบันบริการกองทุนพลังงาน (สบพน.) จัดทำรายงาน รายรับ/รายจ่าย และฐานะกองทุนน้ำมันฯ ของบัญชี LPG เพื่อรายงาน กบง. ทราบทุกเดือน และเห็นชอบปรับสูตรราคาอ้างอิงในการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG ให้สะท้อนสถาพความเป็นจริงมากขึ้น โดยให้ตัดในส่วนของค่าคลังนำเข้า (Depot) 20 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในการคำนวณสูตรราคาอ้างอิง

นายศิริ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนต่อกรอบของแผน PDP ภายในเดือนก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ