พาณิชย์ จับมือ KTB ให้สินเชื่อร้านธงฟ้าประชารัฐ ช่วยเสริมสภาพคล่อง-ยกระดับการพัฒนาเทียบร้านสะดวกซื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 6, 2018 10:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หาวิธียกระดับและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล เพื่อให้ร้านค้าฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด กรมฯ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (KTB) ในการสนับสนุนสินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เข้าร่วมโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ

โดยเบื้องต้นได้กำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่จะขอรับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย ดังนี้ 1) เป็นผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เข้าร่วมโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 2) มีประสบการณ์ทางธุรกิจอย่างน้อย 2 ปี 3) ติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) แล้ว โดยธนาคารจะให้สินเชื่อเป็นจำนวน 3 เท่าของยอดขายภายในร้านค้าฯ ต่อเดือน สูงสุด 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ MRR (ปัจจุบันอยู่ที่ 7.120% ต่อปี) ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการฯ มีประวัติการผ่อนชำระที่ดี ตรงต่อเวลา ไม่ผิดเงื่อนไขการชำระหนี้เป็นระยะเวลา 12 เดือนติดต่อกัน ธนาคารกรุงไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% ต่อปี ตั้งแต่เดือนที่ 13 เป็นต้นไป

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกรุงไทยได้ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้การสนับสนุนโครงการสินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยการค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน ทำให้ผู้ประกอบการที่จะขอสินเชื่อไม่ต้องวิตกกังวลในการหาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ตลอดจนธนาคารกรุงไทยก็สามารถบริหารสินเชื่อได้ด้วยความสบายใจ และดำเนินการให้สินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ 2,000 ล้านบาท

โดยวัตถุประสงค์หลักของการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทยในครั้งนี้ เพื่อต้องการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล รวมถึงนำไปใช้ในการบริหารจัดการร้านค้าให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น 1) นำไปติดตั้งระบบ Point of Sale (POS) เพื่อช่วยในการบริหารจัดการร้านค้าและสินค้าคงคลัง การสร้างความสมดุลระหว่างระบบการจัดซื้อและระบบการจำหน่ายสินค้า 2) นำไปปรับปรุงร้านค้าให้มีความทันสมัย และมีความสวย สว่าง สะอาด สะดวก สบาย เปลี่ยนลักษณะร้านค้าให้สะดวกซื้อแทนสะดวกขาย 3) นำไปเป็นเงินทุนในการซื้อสินค้าเข้าร้านเพิ่มเติม และ 4) นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในร้านค้า เป็นต้น

"กระทรวงพาณิชย์ คาดหวังว่าโครงการสินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในครั้งนี้ จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดประสิทธิภาพด้านบริหารจัดการร้านค้าสูงสุด พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐอยู่คู่สังคมไทยและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างมั่นคง และก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อไป" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ