สภาผู้ส่งออก ปรับเป้าปีนี้เป็นโต 9% จากเดิมคาด 8% หลังก.ค.ขยายตัวต่อเนื่อง แต่เฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงทางการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 6, 2018 11:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกปรับเป้าหมายการส่งออกทั้งปีเติบโต 9% จากก่อนหน้านี้คาดโตได้ 8% หลังการส่งออกเดือนก.ค. 61 มีมูลค่า 20,424 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 17 ที่ 8.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY)

"การส่งออกของไทยในเดือนก.ค.61 รายตลาดส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดีโดยการส่งออกไป ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งตลาดศักยภาพสูงโดยเฉพาะตลาดอินเดีย อาเซียน และ CLMV ยังสามารถรักษาการเติบโตในระดับ 2 หลักได้อย่างต่อเนื่อง ยกเว้น ตลาดสหรัฐอเมริกา ที่หดตัว 1.9% และตลาดตะวันออกกลาง หดตัว 9.4% เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ในขณะที่ยังคงมีความกังวลจากแรงกดดันจากสงครามการค้าอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจการส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน"

ขณะที่ ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤติค่าเงินตุรกี สถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าและแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ที่จะดึงดูดเม็ดเงินนักลงทุนเข้ามาในประเทศทำให้เงินบาทแข็ง และกระทบมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท 2) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 และ 232 ยังคงส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซล เหล็ก ทั้งนี้สถานการณ์ยังไม่แน่นอนจากการขึ้นภาษีตอบโต้ หากแต่ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์ที่อาจจะเป็นโอกาสอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันต้องระวังสินค้าจากสหรัฐฯ ที่จะไหลเข้าไทย ทั้งถั่วเหลือง ข้าวสาลี แต่ในภาพรวมไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบกับการส่งออกไทยมากนัก

3) ปัญหามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ทิศทางราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่า 3% แตะระดับ 75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการบริโภคของอุปสงค์ภายในประเทศและผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม 4) ราคาสินค้าเกษตรและประมงบางรายการ ที่ยังคงเผชิญสภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา (อุปทานล้นตลาด)ข้าว มันสำปะหลัง (จากสภาพอากาศส่งผลให้มีความชื้นสูง) กุ้ง (จากการขาดแคลนวัตถุดิบ)

5) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์และกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งออก 6) สหรัฐอเมริกา เตรียมทบทวนการให้สิทธิ GSP ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ กับ 25 ประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก รวมถึงไทย ที่คาดว่าจะมีการปรับอัตราภาษีการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่ จีน ที่ถูกปรับขึ้นอัตราภาษีที่ 25%

7) วิกฤตภาวะเงินเฟ้อประเทศเวเนซุเอลา กว่า 82,766% และการอพยพของประชากร การเพิ่มอัตราค่าแรงและการเปลี่ยนสกุลเงินที่อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่หนักขึ้น อย่างไรก็ตามการค้าขายระหว่างไทยและเวเนซุเอลา (7 เดือนที่ผ่านมา) ไทยมีมูลค่าการค้า 11.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการนำเข้า 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วน 0.0040% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด และส่งออก 6.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 0.0042% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และ 8) มาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม 50% ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจตุรกีและเกิดวิกฤตการค่าเงินตุรกีอ่อนค่ารุนแรง สะท้อนถึงภาระหนี้ต่างประเทศที่สูงขึ้นและจากความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินจะทำให้กลุ่มธนาคารของยุโรปในฐานะเจ้าหนี้ได้รับผลกระทบที่ลุกลามเป็นวงกว้าง และกระทบภาคการส่งออกของตุรกีโดยตรง ผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวังเรื่องการค้าขายกับตุรกีรวมถึงเทอมการชำระเงิน

สำหรับข้อเสนอแนะที่สำคัญของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 1) ผู้ประกอบการส่งออก รวมถึง SME ควรสร้างความเข้าใจเตรียมรับมือและพิจารณาการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อประกันความเสี่ยงทางอัตราแลกเปลี่ยน เช่น Local Currencies, การเปิดบัญชี Foreign Currencies Deposit: FCD 2) กระจายความเสี่ยงอันจะเกิดจากสงครามทางการค้า โดยการเจาะตลาดคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบโครงสร้างต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบในช่วงที่ค่าเงินมีความผันผวนและการตอบโต้ของมหาอำนาจทางการค้าใน Trade war 3) ส่งเสริมการสิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบ FTA อื่นๆ เพื่อทดแทนความเสี่ยงรายอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าและกระทบผู้ส่งออกในระยะสั้น รวมถึงเร่งผลักดันการเจรจาการค้าเสรีใหม่ CPTPP, RCEP, EU, Pakistan, Turkey, Bangladesh และกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างสรุปการเจรจาเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าในระยะยาว

4) ส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce B2B Cross Border ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าและกลุ่ม SME / Startup ทั้งนี้ ควรติดตาม, เฝ้าระวัง และควบคุม มาตรฐานสินค้าและกลไกการกำหนดราคาสินค้าส่งออกที่อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ขายในประเทศ จากธุรกิจข้ามชาติ (e-Commerce)

5) ภาครัฐควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการยกขนตู้สินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังและเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางและ ICD นอกท่าเรือเพื่อลดแถวคอยของรถบรรทุกภายในท่าเรือ, ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณและยกระดับตู้สินค้าเพื่อการส่งออกให้เพียงพอและคุณภาพตรงต่อความต้องการ, แก้ไขและปรับปรุงประกาศและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ, กำหนดให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในส่วนของต้นทุนภายในประเทศ เป็นบริการควบคุมภายใต้ พระราชบัญญัติราคาสินค้าและบริการ พุทธศักราช 2542 เป็นต้น และผลักดันการดำเนินงานด้านการอ นวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement) ที่สอดคล้องกับแนวทางตามกรอบของ WTO เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าและการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ