ด้านนางสาวพรพรรณ วีระปรียากูร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์วิจัยข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ (C21 Poll) บริษัท เซ็นจูรี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ คือ ปัจจัยการพัฒนาเมืองและระบบขนส่งมวลชน ซึ่งสามารถทำให้เกิดได้ทั้งทางรอดและทางตัน โดยที่หากเมืองมีการเติบโต ระบบคมนาคมจะเติบโตตามไปด้วย ซึ่งการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมนั้นจะต้องมีการพัฒนาพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่ดินรอบข้างไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือวัตถุประสงค์อื่นๆจะทำให้เกิดทางรอดในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ แต่การพัฒนาจะต้องพิจารณาส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ ความหนาแน่นของประชากร (Density), ความหลากหลายของกิจกรรม (Diversity) หรือการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land use) และการออกแบบที่เชื่อมโยงเหมาะสม (Design) อย่างไรก็ตาม หากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ถูกจำกัดประเภทในการพัฒนาพื้นที่รอบๆหรือใกล้เคียงระบบคมนาคม หรือการใช้ประโยชน์ที่ดินใกล้เคียงไม่ได้มีหลากหลายกิจกรรม เนื่องจากจะส่งผลต่อศักยภาพการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้อยู่ในภาวะหลากหลายราคา (Affordable housing) เช่น การที่พื้นที่ถูกพัฒนาเป็นโครงการแนวสูงเพื่ออยู่อาศัยอย่างเดียว ตามแนวระบบการคมนาคม หรือมีการวางตำแหน่งอสังหาริมทรัพย์อย่างกระจัดกระจาย ขาดการออกแบบที่เชื่อมโยงอย่างเหมาะสม หรือการขาดการออกแบบกิจกรรมในลักษณะแหล่งพาณิชยกรรม ทำให้พื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แบบหลากหลาย (mixed-use) หรือพัฒนาพื้นที่โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุด จะเป็นทางตันของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ นอกจากนี้ในส่วนของเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองและระบบคมนาคม ยังมีเงื่อนไขที่สำคัญอีกหลายประการที่อาจส่งผลให้ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยกำหนดทางรอดหรือทางตันในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น กฏหมายผังเมือง-การเวนคืนที่ดิน, การเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่ใช้อาคารรวมต่อที่ดิน (FAR), การโอนถ่ายสิทธิในการพัฒนา (TDR), การบรรจุแนวคิด TOD ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และการนำร่องการพัฒนาพื้นที่โดยหน่วยงานในกำกับของภาครัฐ เช่า การเคหะแห่งชาติ และการควบคุมปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล