น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาประเมินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้มีการออกประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญ จะมีกรอบวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท และผู้มีสิทธิ์ยื่นขอรับการจัดสรร เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยกระทรวงพลังงานจะเปิดชี้แจง TOR และตอบข้อสงสัยสำหรับผู้สนใจในวันที่ 14 กันยายน 2561 และกำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการฯ มายังกระทรวงพลังงาน ภายใน 3 สัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 17 กันยายน 2561 ถึง 5 ตุลาคม 2561) ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้จะสามารถพิจารณาผู้ได้รับการคัดเลือกมาศึกษาโครงการฯ และหากดำเนินการได้กรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้คาดว่าจะได้ผลการศึกษาทั้งหมดภายในเวลา 9 เดือน
"ตั้งเป้าระยะเวลาศึกษาโครงการฯ ประมาณ 9 เดือน ดังนั้นผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2562 แต่คาดว่าภายใน 5 เดือนแรก จะสามารถตอบข้อสงสัยกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อาทิ ความจำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ จำเป็นต้องเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ และข้อเสนอแนะทางเลือกในพื้นที่ภาคใต้"
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างเร่งบริหารจัดการความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ คู่ขนานไปกับการลดความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งในวันนี้ (7ก.ย.) ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ (SEA) เป็นครั้งที่ 5 โดยคณะกรรมการฯ ได้แจ้งความคืบหน้าที่สำคัญ คือ การบรรลุแนวทางการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินการ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งจะสนับสนุนงบประมาณเพื่อว่าจ้างศึกษาโครงการฯวงเงิน 50 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดในการของบสนับสนุนจากสำนักงาน กกพ. ดังกล่าว เบื้องต้น สำนักงานกกพ.และกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ร่วมกัน โดยจะสนับสนุนให้เกิดการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายการพัฒนาและจัดหาพลังงานในภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับจากประชาชน และสนับสนุนให้กระทรวงพลังานสามารถปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ได้อย่างมีรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคสังคมและประชาชนมีความรู้ และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานร่วมฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการฯ ได้กำหนดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอโครงการที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อนำไปสู่จุดเริ่มต้นการคลี่คลายสถานการณ์ที่มีข้อขัดแย้งต่อพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ของประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างรอบคอบ ยึดหลักดำเนินการด้วยความเป็นกลาง ตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ และจะวางกรอบการดำเนินงานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ระยะยาว โดยยึดหลักให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้
นายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในคณะกรรมการ SEA กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าหลักมีเพียงโรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าขนอม กำลังผลิตประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าอื่นๆ มีกำลังผลิตรวม 2,788 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าขยายตัวใกล้ ปีที่แล้วมีความต้องการถึง 2,624 เมกะวัตต์ ขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปภาคใต้ สามารถรองรับความต้องการได้อีก 7 ปี แต่คำถามคือมีความมั่นคงมากน้อยเพียงใด และในพื้นที่ต้องการมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อพึ่งพาตนเองหรือไม่ ซึ่งต้องหาคำตอบนี้ ในขณะเดียวกัน นอกจากความมั่นคงก็ต้องดูต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าด้วย ซึ่งที่ปรึกษาต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนรอบด้าน และให้ประชาชนในพื้นที่เลือกว่าจะตัดสินใจในรูปแบบใด