พาณิชย์ เกาะติดความคืบหน้าตุรกียื่นฟ้องสหรัฐฯ ต่อ WTO กรณีขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 7, 2018 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศจะติดตามความคืบหน้ากรณีพิพาทภายใต้ WTO เรื่องการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ภายหลังได้รับแจ้งจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 องค์การการค้าโลก (WTO) ได้แจ้งเวียนคำขอหารือ (Consultations) ของตุรกี กรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีโดยใช้มาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 ของสหรัฐฯ ที่ให้สามารถขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ (National Security) ได้ ทั้งนี้ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก WTO ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวแล้วและได้ยื่นคำขอหารือกับสหรัฐฯ รวม 9 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย สหภาพยุโรป แคนาดา เม็กซิโก นอร์เวย์ รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี

คำขอหารือดังกล่าวของตุรกีระบุว่า มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ เข้าข่ายเป็นการใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard) และไม่สอดคล้องกฎระเบียบตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade : GATT) ดังนี้ (1) ข้อ XIX : ว่าด้วยการดำเนินการฉุกเฉินต่อการนำเข้าผลิตภัณฑ์บางประเภท (2) ข้อ I : ว่าด้วยการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งโดยทั่วไป (3) ข้อII : ว่าด้วยตารางลดหย่อนภาษีที่จัดเก็บโดยมีอัตราเกินกว่าที่สหรัฐฯ ได้ผูกพันไว้กับ WTO (4) ข้อ X : ว่าด้วยการพิมพ์โฆษณาและการบริหารข้อบังคับทางการค้า เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นกลางและไม่สมเหตุสมผล (5) ข้อXI:ว่าด้วยการขจัดข้อจำกัดด้านปริมาณโดยทั่วไป และ ข้อ XIII : ว่าด้วยการบริหารข้อจำกัดด้านปริมาณโดยไม่เลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ ตุรกียังได้ยื่นฟ้องต่อ WTO ผ่านกระบวนการการยุติข้อพิพาทแบบ Non-violation Complaint ซึ่งใช้ในกรณีการไม่ได้ละเมิดความตกลง WTO อีกด้วย อย่างไรก็ดีท่าทีของสหรัฐฯ กลับเห็นว่า WTO ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินกรณีพิพาทที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศของสหรัฐฯ และยืนยันว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นมาตรการปกป้อง (Safeguard) ทั้งนี้หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ภายใน 60 วันหลังจากวันที่สหรัฐฯ ได้รับคำขอหารือดังกล่าว ตุรกีสามารถเสนอตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) ต่อ WTO เพื่อให้ตัดสินว่าสหรัฐฯ ละเมิดพันธกรณีความตกลง WTO ตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ