นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยแนวโน้มตลาดอาหารอนาคต (Future Food) ในตลาดโลก พบว่า อาหารออร์แกนิกหรือเกษตรอินทรีย์ เป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุด เนื่องจากมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วและมีจำนวนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกสู่ตลาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารอนาคตอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ กลุ่มอาหารทางการแพทย์ และกลุ่มอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม
ในปี 2560 ทั่วโลกมีผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกออกวางจำหน่ายมากถึง 23,590 รายการ เติบโตเฉลี่ย 13% ต่อปีในช่วง 5 ปีหลัง เพราะตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มที่ไม่อยากเสี่ยงกับสารเคมีตกค้างในวัตถุดิบและส่วนประกอบอาหาร ขณะที่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากอาหารเกษตรอินทรีย์ โดยมีผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายจำนวน 17,396 รายการ เติบโตเฉลี่ย 4.3% ในช่วง 5 ปีหลัง ขณะที่อาหารทางการแพทย์ มีผลิตภัณฑ์ใหม่น้อยว่า 1,000 รายการ ส่วนกลุ่มอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม มีน้อยกว่า 500 รายการ
โดยตลาดอาหารออร์แกนิกส่วนใหญ่ 65% อยู่ในยุโรป รองลงมา 16% อเมริกาเหนือ เอเชียแปซิฟิก 13% ละตินอเมริกา 4% แอฟริกาและตะวันออกกลาง 2% ซึ่งหลายประเทศตลาดมีแนวโน้มเติบโตดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่มีกำลังซื้อสูง และให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความปลอดภัย จนเกิดกระแสการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพขยายไปในวงกว้าง พบว่าในปี 2560 ตลาดอาหารออร์แกนิกในจีนมีมูลค่ารวม 19,359 ล้านหยวน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 25.7% ต่อปี นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการขายมากที่สุดราว 14,000 ล้านหยวน ซึ่งล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสินค้าอาหารออร์แกนิกที่ไทยมีโอกาสขยายสู่ตลาดจีน อาทิ ข้าวสารบรรจุถุง เครื่องดื่มธัญพืช เช่น น้ำนมข้าว นมถั่วเหลือง น้ำฟักทอง น้ำงาดำ เครื่องปรุงรส เช่น ซอสถั่วเหลือง และน้ำมันมะพร้าว
ขณะที่การจำหน่ายอาหารออร์แกนิกในญี่ปุ่น ในปี 2560 มีมูลค่ารวม 42.5 พันล้านเยน ขนมปังออร์แกนิกมีมูลค่าสูงสุด 16.2 พันล้านเยน หรือราว 38% ของมูลค่าตลาดในประเทศ รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรส ข้าวและอาหารเส้น ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันสำหรับประกอบอาหารสินค้าอาหารออร์แกนิกที่ไทยมีโอกาสขยายสู่ตลาดญี่ปุ่น อาทิ น้ำมันมะพร้าว ข้าว ซอสและเครื่องปรุงรส เช่น น้ำสลัดงาคั่ว น้ำสลัดซี่อิ๊วญี่ปุ่น เต้าเจี้ยว เครื่องแกง เครื่องเทศ เป็นต้น
"อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วงแรกควรมุ่งเน้นการพัฒนา 2 กลุ่มหลักก่อน ได้แก่ กลุ่มอาหารออร์แกนิก และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าอาหารออร์แกนิกเพื่อวางจำหน่ายในท้องตลาดได้สูงถึง 565 รายการ เติบโตเฉลี่ย 46% ต่อปี อาทิ ข้าว ชาพร้อมดื่ม เครื่องดื่มสมุนไพร โยเกิร์ต น้ำผลไม้ นมพร้อมดื่ม และธัญพืชอบกรอบ เป็นต้น เนื่องจากอาหารออร์แกนิกมีความเป็นนวัตกรรมที่ระบบการจัดการกระบวนการผลิตระดับฟาร์มที่ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ดังนั้น ไม่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น แต่ผู้ผลิตในระดับเอสเอ็มอี ก็สามารถพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจในกลุ่มอาหารออร์แกนิกได้เช่นกัน ทั้งนี้อาจต้องประเมินอุปสรรคเรื่องวัตถุดิบไม่เพียงพอ และการขอรับการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ"