พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า ประชาชนหลายรายได้รับความเดือดร้อนจากการเป็นหนี้ต้องหันมาพึ่งพา "หนี้นอกระบบ"โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินที่มี "การขายฝากที่ดิน"ซึ่งมักไม่ได้รับความเป็นธรรมจนต้องสูญเสียที่ดินที่เป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวและเป็นเครื่องมือหารายได้ของครอบครัว
ขณะนี้มีที่ดินราว 30 ล้านไร่อยู่ในระหว่างการจำนอง และการขายฝากที่ดิน และก็มีโอกาสหลุดมือสูงมาก เนื่องจากนายทุนหลายคน อาศัยกฎหมายฉบับเดิมเป็นช่องทางในการยึดที่ดินจากประชาชน จึงได้มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ได้แก่ พ.ร.บ. คุ้มครองประชาชนในการขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือที่อยู่อาศัย ที่จะช่วยแก้ปัญหา ที่เคยมีอยู่เดิม เช่น กำหนดให้การขายฝากเป็นธุรกิจคุ้มครองของผู้บริโภค โดยต้องทำเป็น "หนังสือ" ที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาสัญญา จากนิติกร หรือพนักงานที่ดิน ก่อนนำไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน มีรายละเอียดทั้งชื่อของคู่สัญญา แหล่งที่ตั้ง จำนวนสินไถ่อัตราดอกเบี้ย วันกำหนดการชำระ "อย่างชัดเจน"
นอกจากนี้การสละสิทธิไถ่ถอนไม่สามารถทำได้ เพื่อป้องกันการตั้งใจให้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรตั้งแต่ต้น รวมถึงกำหนดให้การทำสัญญาขายฝากมีระยะเวลา ไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง เพื่อป้องกันการทำสัญญาระยะสั้น และ การไถ่ถอนสามารถทำได้สะดวกขึ้น นายทุนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้โดยง่าย อีกต่อไป ก็คาดว่ากฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะช่วยปิดช่องโหว่ และแก้ปัญหาการสูญเสียที่ดิน จากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเกษตรกรต้องเรียนรู้เพราะกฎหมายฉบับนี้ความสำคัญอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีกลไกต่างๆ ที่ดำเนินการ "ควบคู่" ไปด้วยเพื่อช่วยให้เกษตรกร สามารถไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝาก ได้ง่ายขึ้น เช่น 1. กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งผู้มีสิทธิขอความช่วยเหลือในการกู้เงินเพื่อไปไถ่ถอนที่ดิน ได้แก่ 1.เกษตรกร หรือพ่อ แม่ ลูก ของเกษตรกร "ผู้มีรายได้น้อย" โดยจะอนุมัติเงินกู้ จำนวนตามที่เป็นหนี้จริง แต่ไม่เกินรายละ 2,500,000 บาท มีอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 5 และ กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้คืนภายใน 20 ปี
2.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้ เกี่ยวกับการเกษตร โดยจะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนหนี้ ให้ถูกต้อง หรือเป็นหนี้ผิดนัดชำระ ถึงหนี้บังคับขายทอดตลาด โดยมีวงเงินกู้ยืม ไม่เกินรายละ 2,500,000 บาท และกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
3.สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ที่จะสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกร ในกรณีต่างๆ เช่น (1) ไถ่ถอนที่ดินจากการจำนอง หรือการขายฝาก ที่ยังอยู่ในอายุสัญญา (2) ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน ที่ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน ( 3) การชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่เกี่ยวกับที่ดิน และ (4)การซื้อที่ดินที่ถูกขายทอดตลาด หรือ หลุดขายฝาก ไปแล้ว ไม่เกิน 5 ปี โดยเจ้าของเดิมถูกบังคับจำนอง ด้วยการขายทอดตลาด
"หวังว่าการดำเนินการของภาครัฐในหลายๆ ด้านควบคู่กันไปเช่นนี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้นะครับ และเราก็จะเห็นตัวเลขที่ดินทำกิน ของพี่น้องเกษตรกรที่ไม่ใช่มาจากการเช่าที่ดินทำกิน มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวอีกด้วย อย่าไปฟังอย่างอื่น มันทำไม่ได้ ต้องทำในลักษณะแบบนี้ที่ต้องทำทั้งระบบนะครับ ไม่งั้นเดี๋ยวก็มีมาพูดจาว่าเดี๋ยวจะทำโน่นทำนี้แล้วมันทำไม่ได้จริง ถ้าไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายมันก็ทำไม่ได้ทั้งสิ้น มันผ่านมา 30-40 ปี แล้วนะเรื่องนี้ เราต้องกลับไปสู่อดีตให้ได้คือทุกคนมีที่ทำกิน เรามีพี่น้องเกษตรกรอีกมากที่มีปัญหาในเรื่องนี้"นายกรัฐมนตรี กล่าว