TOTเผยคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ TRUE ชำระค่าเสียหายกรณีนำอุปกรณ์ในระบบร่วมการงานไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 8, 2018 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางณัฏฐ์ณัชชา ไชยประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานกฎหมาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 คณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 101/2561 โดยคณะอนุญาโตตุลาการสองในสามเห็นว่า พยานหลักฐานประกอบคำให้การพยานฟังได้ว่า ทรู เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL ผ่านโทรศัพท์พื้นฐานตามสัญญาร่วมการงานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจาก ทีโอที จึงฟังได้ว่า ทรู ได้ประพฤติผิดสัญญาร่วมการงานฯ โดย ทรู นำอุปกรณ์ในระบบและให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจาก ทีโอที และได้ชี้ขาดให้ ทรู ชำระค่าผิดสัญญาให้ ทีโอที จำนวน 94,474,282,522.40 บาท พร้อมทั้งให้ชำระดอกเบี้ยอีกร้อยละ 6.6875 ต่อปี จากเงินต้น 76,197,573,919 บาท ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น และให้ ทีโอที และ ทรู ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ และค่าป่วยการคณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายละกึ่งหนึ่งตามระเบียบและข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการด้วย

ข้อพิพาทดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อ 2 สิงหาคม 2534 และ 8 กันยายน 2538 บมจ. ทีโอที (ขณะนั้นเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) ได้ทำสัญญาร่วมการงานฯ กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) ในการลงทุนจัดหา ติดตั้ง ควบคุม ตลอดจนบำรุงรักษาอุปกรณ์ในระบบและให้บริการโทรศัพท์ประจำที่หรือโทรศัพท์บ้านในเขตนครหลวงจำนวน 2.6 ล้านเลขหมาย มีระยะเวลา 25 ปี ในนาม ทีโอที ต่อมาประมาณปลายปี 2546 ทีโอที ได้ตรวจสอบพบว่า ทรู ได้นำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL และหรือยินยอมให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ทีโอที และไม่ได้มีการทำความตกลงกับ ทีโอที ก่อนดำเนินการ จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดสัญญา ซึ่งทีโอทีได้พยายามให้มีการเจรจาแล้ว แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ โดยสัญญาร่วมการงานฯ ไม่ได้กำหนดให้ ทรู นำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL เว้นแต่จะได้ทำความตกลงกับ ทีโอที ก่อนดำเนินการ และในสัญญาฯ ข้อ 33 สรุปได้ว่า "กรณีที่ ทรูมีรายได้หรือผลประโยชน์จากบริการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้ง และไม่ได้ทำความตกลงกับ ทีโอที ก่อนดำเนินการในทุกกรณี ให้รายได้ หรือผลประโยชน์นั้น ตกเป็นของ ทีโอที ทั้งหมด

ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปหลังมีคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ว่า ทีโอทีจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อไป ทั้งนี้ หากทรูยื่นคำฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง ทีโอที ก็พร้อมต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครองจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยพร้อมยินยอมให้ดำเนินคดีอย่างเปิดเผยเพื่อให้สื่อมวลชนได้ตรวจสอบความโปร่งใส


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ