พาณิชย์ เตรียมประชุมคกก.ร่วมความตกลง FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ช่วง 10-11 ก.ย. หวังเปิดตลาดการค้าบริการเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday September 9, 2018 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทย-นิวซีแลนด์ ครั้งที่ 8 (The 8th Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership Joint Commission Meeting : 8th TNZCEP JC) ในวันที่ 10-11 กันยายน 2561 ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามความตกลงเอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership: TNZCEP) ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 โดยความตกลงฯ ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า และการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในสาขาต่างๆ

โดยในส่วนสินค้า นิวซีแลนด์ได้ลดภาษีกว่า 70% ของรายการสินค้าทั้งหมดให้ไทยเป็น 0% ตั้งแต่ปี 2548 และทยอยลดภาษีสินค้าทุกรายการจนเหลือ 0% แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ขณะที่ไทยลดภาษีเป็น 0% ให้นิวซีแลนด์ จำนวน 54% ของรายการสินค้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2548 และจะทยอยลดภาษีทุกรายการเหลือ 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2568 (20 ปี นับแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับ) โดยปัจจุบันไทยยังมีการกำหนดโควตาภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษกับสินค้าบางรายการจากนิวซีแลนด์ เช่น ไขมันเนย นม ครีม เป็นต้น โดยไทยจะต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวให้หมดไปในปี 2568

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุม TNZCEP ครั้งนี้ ไทยและนิวซีแลนด์จะหารือว่าควรจะมีการสานต่อการเจรจาในประเด็นใดเพิ่มอีกหรือไม่ อาทิ การเปิดตลาดการค้าบริการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่อยู่ในความตกลง TNZCEP เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยจะหารือกับนิวซีแลนด์ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) เพื่อขอทราบรายละเอียดของความตกลง CPTPP โดยเฉพาะประเด็นเทคนิค เช่น การตีความถ้อยคำในความตกลงฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาผลดี ผลเสียของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทยต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและนิวซีแลนด์อยู่ที่ 2,282 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นนับจากความตกลงฯ มีผลบังคับใช้กว่า 194.78 % โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย อาทิ รถยนต์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ นมและผลิตภัณฑ์นม ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ ไม้ซุง ไม้แปรรูป เนื้อสัตว์ และอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ