นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวปาฐกถาในการเปิดประชุมวิชาการนานาชาติ International Symposium on Converging Technologies & Disruptive Communications-Moving Forward ว่า ปลายปีนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม หน่วยงานกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะมีการหารือแนวทางในการกำกับดูแลธุรกิจรูปแบบใหม่ในทิศทางเดียวกัน โดยประเทศไทยจะเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีกิจการ OTT หรือ Over-The-Top ผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม กับภาษีนิติบุคคล ซึ่งเป็นรูปแบบการกำกับดูแลการจัดเก็บรายได้ แต่ไม่ได้กำกับดูแลในด้านการควบคุมเนื้อหา เนื่องจากความละเอียดอ่อนด้านการกำกับดูแลเนื้อหาในภูมิภาคอาเซียนมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้อัตราการจัดเก็บภาษีกิจการ OTT ในภูมิภาคอาเซียนอาจแตกต่างกันได้ แต่ไทยเสนอให้มีการจัดเก็บภาษี OTT ทุกประเทศในอาเซียน เพื่อให้มีการกำกับดูแลที่เป็นธรรมต่อการแข่งขันทางธุรกิจ
จากข้อมูลของสมาคมโฆษณาทางดิจิทัล (Digital Advertising Association) คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีการใช้งบประมาณโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลประมาณ 14,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 21% ซึ่งเป็นการโฆษณาผ่าน Facebook และ YouTube ตามลำดับ ในทางตรงกันข้าม วงเงินโฆษณาผ่านทีวีลดลงปีละ 10% จาก 2,500 ล้านบาท ในปี 2558 ลดลงเหลือ 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ในการหลอมรวมเทคโนโลยี กับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม สู่แพลตฟอร์มออนไลน์รูปแบบใหม่ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาไหลสู่ช่องทางออนไลน์ และส่วนเป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ ซึ่งยังไม่ได้มีการจัดเก็บภาษี ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ได้ประโยชน์ในการนำเงินมาพัฒนาในสังคม
สำนักงาน กสทช.จะต้องหาแนวทางเพื่อให้ข้อมูลที่เผยแพร่เกิดประโยชน์และยุติธรรมโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจของประเทศและการเสียภาษี รวมถึงเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่ปล่อยให้เศรษฐกิจของโลกถูกกำกับโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกไม่กี่บริษัท
"กสทช. กำลังหาแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในการให้บริการทั้งทางด้านโทรคมนาคม (Telecommunication)และการให้บริการด้านการแพร่ภาพ (Broadcasting) เพื่อให้การให้บริการเป็นไปอย่างเสรีและมีความยุติธรรม รวมถึงให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ" นายฐากร กล่าว