กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.00 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.77 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 7.6 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 5.1 พันล้านบาท ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก ขณะที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้า โดยประธานาธิบดีทรัมป์อาจประกาศมาตรการภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ในเร็วๆ นี้ หลังระยะเวลาขอความเห็นสาธารณะสิ้นสุดลง นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนอย่างมีนัยสำคัญจากตัวเลขค่าจ้างของสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตเกินคาด ส่วนเงินปอนด์ผันผวน หลังมีกระแสข่าวว่าเยอรมันพร้อมจะพิจารณาข้อตกลงที่ซับซ้อนน้อยลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าของอังกฤษกับสหภาพยุโรปเพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจา Brexit
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ หลังรายงานภาวะตลาดแรงงานงานที่สดใส ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งยืนยันมุมมองของตลาดที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้และเดือนธันวาคม ขณะที่ภาพรวมสงครามการค้า และสถานการณ์ความปั่นป่วนในตลาดเกิดใหม่บางแห่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด หลังทางการจีนเปิดเผยว่าในเดือนสิงหาคม จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อาร์เจนตินาต้องขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจแอฟริกาใต้เข้าสู่ภาวะถดถอย และเงินรูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของกลุ่มเศรษฐกิจหลักในระยะถัดไป
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ว่าความวิตกต่อสงครามการค้าโลก แรงกดดันด้านจิตวิทยาจากวิกฤติตลาดเกิดใหม่ หรือการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ตลาดไม่แน่ใจต่อจังหวะเวลาที่ทางการจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เรายังคงมีมุมมองเช่นเดิมว่า ปัจจัยแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศขณะนี้ รวมถึงแนวโน้มในอนาคต ไม่สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ซึ่งใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเราเชื่อว่าแรงส่งเชิงบวกและการกระจายตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยนั้นเอื้อต่อการเริ่มปรับสมดุลนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะเห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 19 กันยายน ก่อนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายน