พาณิชย์ ปิดจ๊อบระบายข้าว ยันตลอด 4 ปีรับผิดชอบต่อตลาด คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบทุกมิติ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 10, 2018 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ภาครัฐได้ระบายข้าวค้างสต็อกจำนวนมหาศาลจากโครงการรับจำนำของรัฐบาลที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง หลักเกณฑ์ และขั้นตอนดำเนินการที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรมเท่าเทียมกันในทุกกรณี โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและผลกระทบต่อระบบการผลิตและการค้าข้าวไทยในทุกมิติ จัดกลุ่มการระบายอย่างชัดเจน เริ่มต้นจากการระบายแบบทั่วไปที่คนบริโภคได้ จนถึงที่สุดคนกินไม่ได้ จึงได้ตัดสินใจระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี (สิงหาคม 2557 - กันยายน 2561) ที่กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ และเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ได้ระบายข้าวจำนวนมหาศาลในสต็อกของรัฐตามที่ผ่านการตรวจนับปริมาณและมีผลการตรวจสอบวิเคราะห์และจัดระดับคุณภาพแล้วจนหมด โดยได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ แนวทาง วิธีการ หลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้ความเห็นชอบมาโดยตลอด รวมทั้งได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ร่วมประมูล และชี้แจงผ่านสื่อให้สาธารณชนรับทราบและเข้าใจการดำเนินการของภาครัฐในทุกขั้นตอนมาโดยตลอด

จากกระแสข่าวที่มีผู้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายจากการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ ในประเด็นนี้ ขอเรียนว่าในข้อเท็จจริงความเสียหายต่อระบบการผลิตและการค้าข้าวไทยได้เกิดมาโดยตลอดตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาได้ตัดสินใจดำเนินโครงการรับจำนำแล้ว เพราะเมื่อเริ่มระบายข้าวตันแรกก็ขาดทุนแล้ว เนื่องจากต้นทุนที่รับจำนำข้าวไม่สอดคล้องกับระดับราคาข้าวในตลาด ซึ่งเป็นภาระที่คนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับต่อมานั้น รัฐบาลปัจจุบันจึงต้องรีบเข้ามาแก้ไขและบรรเทาความเสียหายไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ โดยเร่งรัดระบายข้าวจำนวนนี้ออกจากสต็อก เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ไม่ให้เกิดปัญหาสต็อกข้าวที่รัฐระบายออกไปกดทับตลาดและกระทบต่อราคาข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ที่เกษตรกรจะได้รับ รวมทั้งต้องเป็นการระบายที่รับผิดชอบตลาดในภาพรวมและผู้บริโภค ไม่ให้ข้าวที่เสื่อมคุณภาพเข้าไปปะปนกับข้าวบริโภค ซึ่งจะกระทบต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทย ซึ่งจะเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ย้ำว่า หลักการระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อตลาดที่คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อข้าวไทยทั้งระบบ โดยที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐได้นำข้าวบริโภคออกมาประมูลขายให้มากที่สุดแล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีข้อจำกัดของตลาดที่จะรองรับ และปัญหาการคัดแยกกองข้าวขายตามคุณภาพ ซึ่งไม่คุ้มกับระยะเวลาและต้นทุนค่าใช้จ่าย รัฐบาลจึงต้องปรับแนวทางการระบายโดยแยกข้าวออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อแยกตลาดให้ชัดเจน และขายแบบยกคลัง โดยภาครัฐไม่สามารถปล่อยให้มีการนำข้าวเสื่อมคุณภาพไปขายในตลาดปกติได้ ซึ่งจะกระทบต่อชื่อเสียง ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือในคุณภาพข้าวไทย และเกิดวงจรการกดราคาข้าวในตลาดปกติต่อไปอีก

ในส่วนประเด็นความรับผิดชอบของบริษัทเซอร์เวย์และเจ้าของคลัง ซึ่งมีหน้าที่ส่งมอบข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานทุกกระสอบตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญารับมอบข้าวเข้าคลัง หากพบว่ามีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามสัญญา ก็จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ซึ่งหากมีประเด็นข้อโต้แย้งก็สามารถใช้สิทธิชี้แจงหลักฐานข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรมได้อยู่แล้ว อีกทั้งภาครัฐได้สื่อสารให้สังคมรับทราบการดำเนินการของรัฐในทุกขั้นตอนมาโดยตลอด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ