นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ร่วมกับ กรมป่าไม้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เดินสายให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบธุรกิจ สถาบันการเงิน ผู้บังคับหลักประกัน และประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้หลักประกัน ผู้รับหลักประกัน และผู้บังคับหลักประกัน ตลอดจนเข้าใจวิธีการและแนวทางการนำไม้ยืนต้นมูลค่าสูงมาเป็นหลักประกัน พร้อมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากกฎหมายฯ ฉบับนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 ก.ค.61 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในรายละเอียดของกฎกระทรวง โดยกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองเพื่อการออม และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการปลูกป่าด้วย อีกทั้งกฎหมายฉบับดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ต่อสถาบันการเงินในการเพิ่มช่องทางการให้แหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินโดยมีกฎหมายรองรับ
"การเดินสายให้ความรู้ครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น วันพุธที่ 12 กันยายน 2561 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ หลังจากนั้นจะดำเนินการให้ความรู้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจังหวัดถัดไป ได้แก่ จังหวัดกระบี่ แพร่ ตราด ราชบุรี ฯลฯ เป็นต้น" นางกุลณี กล่าว
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น กำหนดให้ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้มี จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ (1) กิจการ (2) สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า เป็นต้น (3) สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบ เป็นต้น (4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น (5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น (6) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ)
ปัจจุบันมีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้วจำนวน 240,528 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 5,014,626 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 51.24 (มูลค่า 2,569,628 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็นร้อยละ 26.55 (มูลค่า 1,331,178 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็นร้อยละ 22.17 (มูลค่า 1,111,651 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.04 (มูลค่า 1,975 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.004 (มูลค่า 194 ล้านบาท) และอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.00001 (มูลค่า 0.34 บาท)