ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน ส.ค.61 วูบเหตุกังวลราคาสินค้าแพง ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่แนวโน้มดีขึ้นรับอานิสงส์มาตรการภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 12, 2018 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือน ส.ค.61 อยู่ที่ 44.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 45.1 ในเดือน ก.ค.61 เนื่องจากครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่สูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

"ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน ส.ค.61 พลิกกลับมาปรับตัวลดลงจากความกังวลในเรื่องของระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ความกังวลของครัวเรือนที่มีต่อสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารสดและราคาพลังงานในประเทศที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.18% และ 0.68% ตามลำดับ ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากเทศกาลสารทจีนที่ทำให้ความต้องการอาหารสดเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศมีฝนตกชุกทั่วประเทศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ขณะที่ราคาพลังงานภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นยังส่งผลให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 23.2% ของครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เพิ่มขึ้นในเดือนส.ค. มาจากระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่สูงขึ้น นับเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นจากการสำรวจในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 12.8%

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) อยู่ที่ 46.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 46.3 ในเดือน ก.ค.61 เนื่องจากครัวเรือนเกษตรบางส่วนมีความกังวลในเรื่องภาระหนี้สินที่ลดลง ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์มาจากมาตรการภาครัฐที่มีการลดภาระหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรรายย่อย (มติ ครม.เมื่อวันที่ 31 ก.ค.61) ซึ่งประกอบด้วย โครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 3 ปี (1 ส.ค.61-31 ก.ค.64) และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยเป็นระยะเวลา 1 ปี (1 ส.ค.61-31 ก.ค.62)

เมื่อมองไปถึงช่วงไตรมาสสุดท้าย (ต.ค.-ธ.ค.) ของปี 2561 ประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่องยังเป็นในเรื่องของระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่คาดว่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของราคาอาหารสดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ รวมถึงค่าโดยสารสาธารณะบางประเภทที่ผู้ประกอบการหลายฝ่ายขอปรับขึ้นเนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว แม้ภาครัฐจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังต้องติดตามในเรื่องของระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศที่คาดว่าจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ทั้งในส่วนของราคาอาหารสดและราคาพลังงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องความกังวลของครัวเรือนต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันและในระยะข้างหน้า พบว่า ราว 2 ใน 3 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังไม่มีความกังวลว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะทวีความรุนแรงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยไม่ค่อยประสบปัญหาน้ำท่วม รวมถึงมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะคลี่คลายไปในทางที่ดี เนื่องจากรัฐบาลเข้ามาดูแลเร่งแก้ปัญหา อย่างไรก็ดี ครัวเรือนในพื้นที่ต่างจังหวัดจะมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงท้ายปี 2561 มากกว่า โดยเฉพาะครัวเรือนที่อาศัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่อนข้างมีความกังวลว่า พื้นที่การเกษตรจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทำให้ครัวเรือนขาดรายได้เลี้ยงชีพ

ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นของครัวเรือนต่อสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ยังมีความจำกัดในการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างที่ประสบอุทกภัยในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะทำให้ผลการสำรวจยังไม่สะท้อนภาพรวมของสถานการณ์ได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะทำการสำรวจและติดตามในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ