นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวถึงงาน SME ONE FEST 2018 โดยคัดเลือกเอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพกว่า 1,100 บูธ ร่วมงานแสดงสินค้า ระหว่างวันที่ 6 – 9 กันยายน 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้สนใจเข้าชมงานกว่า 100,000 คน จากเป้าที่คาดการณ์ไว้ 50,000 คน ขณะที่งานแสดงสินค้าและการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกับเอสเอ็มอีประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV อินเดีย และตุรกี มีการสั่งซื้อสินค้าที่เกิดขึ้นหลายรายการ อาทิ ผลไม้สด แปรรูป แช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป ขนมคบเคี้ยว เครื่องปรุงรส อาหารเสริม สินค้าออร์แกนิคเพื่อสุขภาพ สปา เครื่องสำอาง และสินค้าแฟชั่น โดย สสว. จะมีการเฝ้าติดตามการซื้อขายหลังการจัดงานในระยะ 1 ปี เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถเจรจาต่อยอดธุรกิจขยายช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น จากการเข้าร่วมงานนี้อีกหลายราย ทั้งในส่วนของการสั่งซื้อไปจำหน่ายไปยังต่างประเทศและในรูปแบบการรับจ้างผลิต (OEM) ได้แก่ ลูกเดือยอบ เห็ดอบกรอบ สบู่เหลว เครื่องสำอางโปรตีนไหม รองเท้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มงาน Animation ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนด้วยเช่นกัน ในขณะที่สินค้าที่ได้รับความสนใจในส่วนของงานแสดงสินค้าอันดับแรกคือ กลุ่มอาหาร รองลงมาคือเครื่องประดับ ผ้าทอ ผ้าไหม และสมุนไพร
สำหรับการจัดงาน SME ONE FEST 2018 ในครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก สสว. มีภารกิจในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาของเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากหลายโครงการที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการตามวงจรธุรกิจ ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคง ผ่านทางหน่วยงานร่วมดำเนินการ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และศูนย์บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (SME One-stop Service Center : OSS) ของ สสว. รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้เข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ แบบครบวงจร เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาใช้บริการมากกว่า 180,000 ราย เพื่อเป็นการต่อยอดหลายโครงการที่ สสว. ดำเนินการให้เห็นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน รวมถึงเรื่องของการทดสอบตลาด สสว. จึงได้จัดงาน "SME ONE FEST 2018" นอกจากจะเป็นการทอดสอบตลาดให้แก่ผู้ประกอบการแล้วยังเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาประเมินผลเพื่อหาจุดอ่อนและจุดแข็งของผู้ประกอบการ และจะได้พัฒนาการส่งเสริมผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป