นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (คผท.) ว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 WTO ได้แจ้งเวียนคำขอหารือ (Consultations) ของจีนต่อกรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ในอัตราร้อยละ 25 ภายใต้มาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1974) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2561 เพื่อตอบโต้การที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมีนโยบายบังคับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 สหรัฐฯ โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative : USTR) กล่าวหาว่าจีนมีข้อปฏิบัติ นโยบาย หรือการดำเนินการของรัฐบาลที่บังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม ที่เป็นไปอย่างไม่สมเหตุสมผล หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ และก่อให้เกิดภาระหรือเป็นการจำกัดการค้า จึงใช้มาตรา 301 ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 25 กับสินค้าจากจีนจำนวน 1,102 รายการ ครอบคลุมสินค้าหลายรายการ เช่น เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ ไดโอด ทรานส์ซิสเตอร์ ส่วนประกอบของหัวรถจักรของรถไฟส่วนประกอบรวมถึงเครื่องควบคุมของกังหันไฮดรอลิก พลาสติก เครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์สำหรับการผลิตจอภาพแสดงผลแบบแบน มอเตอร์ วงจรรวมที่ใช้ในอิเล็กทรอนิกส์ แทรกเตอร์สำหรับใช้ในการเกษตร เป็นต้น
การขึ้นภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนของสหรัฐฯ ดังกล่าว ทำให้จีนเห็นว่าเป็นมาตรการที่ขัดกับกฎระเบียบตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade : GATT) หลายข้อบท ได้แก่ 1) ข้อ I : ว่าด้วยการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งโดยทั่วไป โดยไม่เลือกปฏิบัติ 2) ข้อ II : ว่าด้วยตารางข้อลดหย่อน เรื่องการเก็บภาษีนำเข้าเกินกว่าอัตราที่สหรัฐฯ ผูกพันภายใต้ WTO และ 3) ขัดกับความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Understanding : DSU) ข้อ 23
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ต้นปี 2561 จีนและสหรัฐฯ มีการยื่นฟ้องต่อ WTO แล้ว 7 กรณีพิพาท โดยจีนยื่นฟ้องสหรัฐฯ 5 กรณีพิพาท ได้แก่ 1) การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (รอบที่ 1) ตามมาตรา 301 2) การขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมตามมาตรา 232 3) การใช้มาตรการปกป้องสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ 4) มาตรการจูงใจให้ใช้สินค้าและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในสหรัฐฯ และ 5) การขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมกับสินค้าจากจีน (รอบที่ 2) ตามมาตรา 301 ในขณะที่สหรัฐฯ ยื่นฟ้องจีน 2 กรณีข้อพิพาท ได้แก่ 1) การละเมิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 2) การที่จีนขึ้นภาษีตอบโต้การขึ้นภาษีตามมาตรา 301 ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศ จะติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว และเผยแพร่ให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ