นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใช้เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือก ทำให้สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ หรือการสะสมรายได้ของรัฐวิสาหกิจเอง เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมากเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้แก่ประเทศ แก้ไขปัญหาการจราจร ลดต้นทุนด้านคมนาคมขนส่ง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้พิจารณานำทรัพย์สินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งเป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่มั่นคงและมีโอกาสเติบโตในอนาคต เพื่อให้กองทุน TFFIF เข้าลงทุนครั้งแรก โดยจะเข้าลงทุนในสิทธิในการรับรายได้ค่าผ่านทางพิเศษที่ 45% ของรายได้ค่าผ่านทางรวมที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษ 2 เส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี รวมระยะทาง 83.2 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันที่กองทุนเข้าทำสัญญากับ กทพ. โดย กทพ. ยังคงเป็นผู้บริหารจัดการและเป็นเจ้าของทางพิเศษดังกล่าว
"ในเฟสแรก จะโอนรายได้ค่าผ่านทางของ กทพ. 2 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษฉลองรัช และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี ในสัดส่วน 45% ของรายได้ เป็นระยะเวลา 30 ปี มาให้ TFFIF ผ่านการทำสัญญาโอนและรับสิทธิโอนรายได้ (Revenue Transfer Agreement: RTA) ซึ่งคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ภายในกลางเดือน ต.ค.นี้" ผู้อำนวยการ สคร.ระบุ
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ กทพ.จะนำเงินไปใช้ในการลงทุนพัฒนาทางพิเศษ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงิน 30,437 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 62 และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก (ถนนเกษตร-นวมินทร์) วงเงินลงทุน 14,382 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ภายในปลายปีนี้
"เส้นทางดังกล่าว จะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระทางการคลังของรัฐบาลด้วย" นายประภาศกล่าว
พร้อมระบุว่า ในวันที่ 17-20 ก.ย. นี้ จะเดินสายพบนักลงทุนในสิงคโปร์ และฮ่องกง ขณะที่นักลงทุนในประเทศจะเริ่มโรดโชว์ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.-8 ต.ค. ขณะที่วงเงินระดมทุนนั้น คาดว่าจะเป็นไปตามกรอบเดิมคือวงเงินระดมทุน 45,000 ล้านบาท ส่วนการนำสินทรัพย์เข้ามาระดมทุนในกองทุนฯเฟส 2 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายของกรมทางหลวง ในด้านของการนำรายได้ของมอเตอร์เวย์สายที่ 7 และ 9 เข้ามาระดมทุนในกองทุนเฟส 2 ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายใน ม.ค.62
นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ. มีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นพัฒนาทางพิเศษเพื่อให้บริการที่ดี มีความคุ้มค่า สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย อย่างยั่งยืน โดยได้รับเลือกจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานแรกในการนำทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ กทพ. ที่มีรายได้สม่ำเสมอ มาระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ขยายทางพิเศษได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบัน กทพ. มีความจำเป็นต้องขยายโครงข่ายทางพิเศษเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร และช่วยเพิ่มศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันมีทางพิเศษที่เปิดให้บริการรวม 8 เส้นทาง ทั้งที่ กทพ. เป็นผู้ดำเนินงานเองและร่วมกับคู่สัญญาที่ได้รับสัมปทาน แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ
สำหรับทางพิเศษทั้ง 2 เส้นทาง ถือว่ามีความสำคัญต่อการเชื่อมต่อของการเดินทาง โดยทางพิเศษฉลองรัชมีระยะทาง 28.2 กิโลเมตร เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (บริเวณจตุโชติ) และสิ้นสุดที่บริเวณสุขุมวิท 50 เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณอาจณรงค์ ส่วนทางพิเศษบูรพาวิถี มีระยะทาง 55 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในทางยกระดับที่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางที่มีระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อปลายทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ช่วงบางนา) และสิ้นสุดที่บริเวณก่อนถึงทางเลี่ยงเมืองชลบุรี
ส่วนเงินที่ กทพ. ได้รับจากการโอนสิทธิในรายได้ของทางพิเศษดังกล่าว กทพ. จะนำไปใช้ลงทุนพัฒนาทางพิเศษ 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 2.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยและแบ่งเบาภาระทางการคลังของรัฐบาล
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า หลังจากที่ได้ยื่นแบบ Filing ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งภายหลังได้รับการอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนกองทุนฯ จะดำเนินการกำหนดวันที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหน่วยลงทุนต่อไป และคาดว่าจะนำหน่วยลงทุนของ TFFIF เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ใน ต.ค.61
สำหรับทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนฯ จะลงทุนในครั้งแรกนั้น ได้แก่ สิทธิในรายได้ในอนาคต 45% ของทางพิเศษฉลองรัชและบูรพาวิถี ซึ่งทางพิเศษทั้ง 2 สายทางเป็นทรัพย์สินของ กทพ. ที่เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยไม่เคยมีการปิดซ่อมบำรุงทั้งสายทางและมีรายได้สม่ำเสมอ ทั้งนี้ กองทุนฯ ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหรือเงินลงทุนใดๆ เพื่อซ่อมแซมทางพิเศษดังกล่าว
สำหรับทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ตั้งอยู่ในทำเลจุดยุทธศาสตร์ที่มีประชากรหนาแน่น สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับพื้นที่สำคัญๆ รอบกรุงเทพฯ พื้นที่แถบปริมณฑลและพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ เขตอุตสาหกรรมและเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ขณะเดียวกันคาดว่ากองทุน TFFIF จะได้รับประโยชน์จากปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การปรับอัตราค่าผ่านทางในอนาคต การขยายทางที่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางและทางเชื่อมต่อ ตลอดจนการเข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม เช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำทางหลวงพิเศษทั้ง 2 สายทางมาระดมทุนผ่านกองทุนฯ แล้ว
ด้านนายตรัยรักษ์ เต็งไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวาณิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุน TFFIF เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานของรัฐบาลที่จะนำโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาระดมทุนจากประชาชนโดยใช้ตราสารทุน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะ จึงนับเป็นกองทุนที่มีศักยภาพและน่าสนใจในการลงทุน
นายเอกภพ เมฆกัลจาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ได้เตรียมจัดกิจกรรมโรดโชว์พบนักลงทุนทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดและความน่าสนใจของกองทุนฯ รวมถึงจุดเด่นของทางพิเศษทั้ง 2 เส้นทางซึ่งเป็นทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานของ กทพ. ที่กองทุน TFFIF จะเข้าลงทุนครั้งแรก โดยการจัดโรดโชว์พบนักลงทุนในกรุงเทพฯ นั้น กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายนนี้ ตั้งแต่เวลา 13.30 – 16.00 น. ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคาร B ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ กองทุน TFFIF จะมีการเสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนรายย่อยที่เป็นผู้ลงทุนทั่วไป โดยในการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปนั้น ต้องการเปิดโอกาสให้ได้รับสิทธิ์อย่างเสมอภาค โดยจะใช้วิธี การจองซื้อแบบ Small Lot First ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปทุกรายตามจำนวนหน่วยจองซื้อขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในรอบแรก และวนไปเรื่อยๆ รอบละเท่ากันจนกว่าจะครบตามจำนวนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนที่สนใจมีสิทธิ์จองซื้อหน่วยลงทุนและได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการ กล่าวว่า หลังจากที่กองทุน TFFIF เข้าลงทุนในสิทธิในการรับรายได้ค่าผ่านทางพิเศษ 45% ของรายได้ค่าผ่านทางรวมหลังจากหักภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี กทพ. จะยังคงสถานะเป็นเจ้าของทรัพย์สินเช่นเดิม โดยในฐานะบริษัทจัดการพร้อมทำงานร่วมกันเพื่อบริหารกองทุน TFFIF ให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกคน
อย่างไรก็ดี TFFIF นับเป็นกองทุนที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีนโยบายเข้าลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานที่ดี โดยการลงทุนครั้งแรกนั้นได้คัดเลือกทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีคุณภาพและผลการดำเนินงานย้อนหลังที่ดีอย่างต่อเนื่องมาจัดตั้งกองทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
น.ส.ประภา ปูรณโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการ กล่าวว่า การลงทุนในกองทุน TFFIF ถือว่ามีความน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอจากการได้รับเงินปันผลจากกองทุน และน่าจะให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน แต่มีความผันผวนต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น นอกจากนี้นักลงทุนรายย่อย (บุคคธรรมดา) จะได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนฯ อีกด้วย
ขณะที่กองทุน TFFIF มีโอกาสการเติบโตที่ดีในอนาคต เนื่องจากสามารถเข้าลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินที่เป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของภาครัฐในอนาคต เช่น ทางหลวง สนามบิน ท่าเรือ ระบบราง ฯลฯ ซึ่งจะทำให้กองทุนฯ มีสินทรัพย์ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลาย และส่งผลดีต่อการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายและโอกาสได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการลงทุน