นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การจัดงาน DIGITAL THAILAND BIG BANG 2018 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กันยายนนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศ กว่า 100 หน่วยงาน และความร่วมมือระดับนานาชาติจาก 12 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย โปแลนด์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม เนปาล อินเดียและอิสราเอล เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล การก้าวให้ทันเทคโนโลยีและนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยตั้งเป้าจะมีผู้เข้าชมงานทั้ง 5 วัน ไม่ต่ำกว่า 250,000 คน
สำหรับงานนี้จะทำให้ทุกคนได้พบการเปลี่ยนแปลงของประเทศใน 8 ด้าน อาทิ นวัตกรรม Cloud computing ที่เชื่อมโยงโลกทั้งใบอย่างไร้ขีดจำกัด, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงไปทั่วโลกผ่านดิจิทัลเทคโนโลยี อาทิ ระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (Submarine Cable) และดวงดาวอัจฉริยะหรือดาวเทียม เป็นต้น
มิติของการเปลี่ยนแปลงข้อมูลขนาดใหญ่ที่นำไปใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เทคโนโลยีแห่งอนาคต ทั้งเทคโนโลยีใหม่ เทคโนโลยีก่อกำเนิด (Emerging Technology) และนวัตกรรมดิจิทัลจาก digital innovators กว่า 800 ราย บล็อคเชน ที่ไม่ใช่ดิจิทัลเฉพาะโลกการเงินแต่คือดิจิทัลสำหรับทุกคน การศึกษาระบบใหม่ ให้คนไทยก้าวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ coding ถึงระดับ advance อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ก้าวล้ำสู่อีกขั้นของ 7 เมืองอัจฉริยะ กับการเตรียมพร้อมรองรับเป็นเจ้าภาพระดับอาเซียน ปี 2019 และ มหกรรมการแข่งขันระดับเยาวชนเข้าร่วมกว่า 5,000 คน เพื่อแสดงความสามารถทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ในการแข่งขันหุ่นยนต์ การแข่งขันบินโดรน การแข่งขันออกแบบภาษาคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า การจัดงาน DIGITAL THAILAND BIG BANG 2018 คือโอกาสสำคัญที่จะเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ สร้างการรับรู้และเล็งเห็นประโยชน์ของการนำดิจิทัลมาขับเคลื่อนทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม
ในปีนี้กระทรวงฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ดำเนินการจัดงานขึ้น 2 ส่วน คือ ส่วนภูมิภาค จัดใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, เชียงใหม่, ระยอง และสงขลา ทั้ง 4 เมืองนี้เป็นเมืองที่ได้รับการคัดเลือกว่าที่มีศักยภาพและเป็นเมืองนำร่องสมาร์ทซิตี้ ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนที่สำคัญ งานในส่วนภูมิภาคประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย มีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 61,000 คน ประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการ นักพัฒนาดิจิทัลซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ นักเรียน นักศึกษา ครูและผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป
งานส่วนที่สอง จัดในส่วนกลาง ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค โดยได้เพิ่มพื้นที่จัดงานให้ใหญ่ขึ้นเป็น 60,000 ตารางเมตร เต็มพื้นที่ชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค สามารถรองรับการแสดงเทคโนโลยีชั้นนำ และเพิ่มวันจัดงาน เป็น 5 วัน
รมว.ดิจิทัล กล่าวว่า กระทรวงดีอีตั้งใจให้งานเป็นมหกรรมดิจิทัลระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพันธมิตรจาก 12 ประเทศ กว่า 500 หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและดิจิทัลสตาร์ทอัพ ร่วมนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีหลากหลายสาขา ให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์ตื่นตาตื่นใจ เข้าใจถึงประโยชน์ ความสะดวกสบายและโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
"เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นทั้งตัวเร่งการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเป็นเครื่องมือพลิกโฉมประเทศไทยตามแนวทางของ "Digital Transformation" เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักทางเศรษฐกิจ โดยกระทรวงฯ ได้ดำเนินการตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชนผ่าน E-Commerce และยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ การเรียนรู้ การเข้าถึงบริการของรัฐ การทำการเกษตรยุคใหม่ รัฐบาลเร่งปรับฐานเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมดิจิทัลผ่านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ อาทิ Smart City, Coding Nation, Digital Transformation และ Digital Park Thailand ที่จะส่งให้ไทยเป็นผู้นำด้านการค้าการลงทุน และการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค"