การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว กรุงไทย บัตรเดบิตแมงมุม บัตรเดบิตบัตรแรกในประเทศไทยที่รวมความสะดวกด้านการใช้จ่าย และความสบายในการเดินทางไว้ในบัตรเดียว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่นี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านบัตรเดบิตสำหรับเดินทาง ด้วยการออก กรุงไทย บัตรเดบิตแมงมุม (Krungthai Metro Link) ซึ่งเป็นบัตรเดบิตที่สามารถใช้สำหรับเดินทาง และใช้เบิก ถอน หรือโอนเงินสด รวมทั้งใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ทั่วโลก ณ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ Mastercard ซึ่งเป็นการรวมความสะดวกด้านการใช้จ่าย และความสบายในการเดินทาง ทำให้การเดินทางง่าย ใช้จ่ายคล่องตัว จบในบัตรเดียว
"การออก กรุงไทย บัตรเดบิตแมงมุมเป็นการนำเสนอบริการและนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ใช้ระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit) ซึ่งไม่เพียงสอดล้องกับนโยบายภาครัฐ แต่ยังเป็น 1 ใน 5 Ecosystems ที่เป็นยุทธศาสตร์หลักของธนาคาร นอกเหนือจากกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ (Government) ระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (Payment Systems) กลุ่มด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล (Health and Medical) และ กลุ่มมหาวิทยาลัยและโรงเรียน (University and Education) โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป พร้อมจัดโปรโมชั่นยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท สำหรับผู้สมัคร กรุงไทย บัตรเดบิตแมงมุม และรับเครดิตเงินคืน 30 บาท ต่อเดือน เมื่อเติมเงิน 300 บาท (สูงสุดไม่เกิน 90 บาท) จำนวน 20,000 สิทธิ์ตลอดระยะเวลาโปรโมชั่น จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ธนาคารยังจะเปิดเคาน์เตอร์พิเศษสำหรับผู้สนใจสมัครบัตร ณ จุดรับสมัครตามสถานีและจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูน เพชรบุรี ลาดพร้าว สุขุมวิท พหลโยธิน และบางใหญ่ ในเดือนตุลาคม 2561"
นายผยง กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้ามีลูกค้าสมัครบัตรเดบิตแมงมุมถึงสิ้นปีนี้มากกว่า 100,000 บัตร โดยจะเริ่มเปิดให้ลูกค้าสมัครตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 61 พร้อยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท ถึงสิ้นเดือนพ.ย.นี้ โดยการเปิดตัวบัตรเดบิตแมงมุมของธนาคารกรุงไทยถือเป็นการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการ National e-Payment ของภาครัฐ ที่ต้องการวางโครงสร้างพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมไร้เงินสด โดยปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าที่ถือบัตรเดบิตรวมทั้งสิ้น 14 ล้านใบ
ขณะเดียวกันรูปแบบบัตรเดบิตแมงมุมในระยะต่อไปจะเป็นใช้เทคโนโลยี EMV ซึ่งเป็นมาตรฐานโลก เข้ามายกระดับการบริการและลดต้นทุนการผลิตบัตรเดบิต จากปัจจุบันบัตรเดบิตแมงมุมใช้ 2 ชิป ซึ่งยังต้องแยกบัญชีเป็น 2 บัญชี และมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า โดยที่เทคโนโลยี EMV ถือเป็นเทรนด์ของโลกในปัจจุบันที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ประกอบกับจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีของบัตรเดบิตอื่นๆเพิ่มเข้ามา พร้อมกับเปิดตัวโมบายแอพพลิเคชั่นรูปแบบใหม่ (Krungthai Next) ในเดือนก.ย. 61 ทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการต่างๆได้สะดวกขึ้น และสามารถเติมเงินเข้าบัตรเดบิตแมงมุมผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร (จากปัจจุบันที่ยังต้องเติมเงินผ่านตู้ ATM และสถานีรถไฟฟ้า MRT
ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆของธนาคารนั้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบ KYC สำหรับการยืนยันตัวตน ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบใน Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่จะออกมาจาก Sandbox และมาใช้ให้บริการแก่ลูกค้าได้ และยังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องเพื่อพัฒนาการบริการแก่ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับแนวโน้มของสินเชื่อในช่วงไตรมาส 4/61 คาดว่าจะมีการเติบโตขึ้น โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำให้มีการเบิกใช้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ทำให้แนวโน้มของสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่มีการเติบโตที่ดี และจะส่งผลต่อสินเชื่อในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อจะเป็นการเติบโตตามการลงทุนของภาครัฐ ส่วนความคืบหน้าของบมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) และบมจ.เอคิว เอสเตท (AQ) ยังอยู่ระหว่างการรอคำตัดสินของศาล โดยที่ EARTH อยู่ระหว่างรอศาลล้มละลายกลางพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 1 ต.ค. 61 และ AQ ยังรอฟังคำสั่งของศาลกำหนดการขายทอดตลาดที่ดินในช่วงกลางเดือนต.ค.นี้
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ออกบัตรเดบิต Co-Brand ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ได้ทั้ง 2 สาย และในอนาคตจะขยายบริการให้ระบบตั๋วร่วมใช้กับรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถประจำทาง ขสมก. รวมถึงเครือข่ายแมงมุมอื่นในอนาคต นับเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมือง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น