นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลประชุมคณะกรรมาธิการความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ (Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership: TNZCEP) ครั้งที่ 8 ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2561 ณ กรุงเวลลิงตัน ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลง TNZCEP ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 พบว่าได้ช่วยให้การค้าสองฝ่ายเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากเดิมมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 774 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 เป็น 2,282 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 เพิ่มขึ้นกว่า 194.78% ซึ่งเป็นผลจากนิวซีแลนด์ได้ลดภาษีศุลกากรเป็น 0% ให้ไทยกว่า 70% ของรายการสินค้าทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับในปี 2548 และทยอยลดภาษีศุลกากรจนเป็น 0% ทุกรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ขณะที่ไทยได้ลดภาษีศุลกากรเป็น 0% ให้นิวซีแลนด์ 54% ของรายการสินค้า ตั้งแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับและจะทยอยลดภาษีเป็น 0% จนครบทุกรายการ ในปี 2568 ทั้งนี้ปัจจุบันไทยยังมีการกำหนดโควตาภาษี และมาตรการปกป้องพิเศษกับสินค้าบางรายการจากนิวซีแลนด์ เช่น ไขมันเนย นม และครีม ซึ่งจะต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวให้หมดไปในปี 2568 เช่นกัน
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยังได้ใช้โอกาสนี้หารือเรื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้รวมไว้ในความตกลง TNZCEP เช่น การเปิดเสรีการค้าบริการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น โดยในส่วนการค้าบริการ เห็นควรให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าบริการภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เพื่อให้การเจรจา RCEP มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ รวมทั้งอาจพิจารณาเปิดตลาดการค้าบริการระหว่างกันใน TNZCEP ในสาขาที่แต่ละฝ่ายสนใจในอนาคต โดยนิวซีแลนด์แจ้งว่าสนใจบริการที่เกี่ยวกับการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ไทยแจ้งว่าสนใจบริการด้านการท่องเที่ยว บริการสุขภาพ เป็นต้น สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เห็นควรต่อไป
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทยยังใช้โอกาสนี้หารือกับนิวซีแลนด์ เรื่องที่นิวซีแลนด์จะให้ความร่วมมือเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยผ่านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบอย่างยั่งยืนของเกษตรกรโคนมไทย โดยนิวซีแลนด์จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำแนะนำเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรไทย จากนั้นจะคัดเลือกเกษตรกรโคนมไทยที่เข้าร่วมโครงการไปศึกษา เรียนรู้วิธีการผลิตน้ำนมดิบ และเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ โดยการลงพื้นที่จริงที่ประเทศนิวซีแลนด์ และกลับมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ไปอบรมที่นิวซีแลนด์ด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินงานกว่า 2 ปี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย คือ กรมปศุสัตว์เป็นผู้ประสานงาน
นอกจากนี้ สองฝ่ายยังได้หารือเรื่องการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นในการค้าโลกในปัจจุบัน ที่มีการนำมาตรการกีดกันการค้ามาใช้มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการค้าของโลกโดยรวม และไทยได้เชิญชวนนิวซีแลนด์เข้ามาร่วมลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและนิวซีแลนด์อยู่ที่ 2,282 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นนับจากความตกลงฯ มีผลบังคับใช้กว่า 194.78% โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย อาทิ รถยนต์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ นมและผลิตภัณฑ์นม ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ ไม้ซุง ไม้แปรรูป เนื้อสัตว์ และอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก