คมนาคมเล็งดึงเอกชนร่วมลงทุนขยายสนามบินภูมิภาคช่วง 10 ปี วงเงินกว่า 3.4 หมื่นลบ.ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 14, 2018 18:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน " Airports For All : กรมท่าอากาศยาน มุ่งมั่น ก้าวไกล เพื่อไทยทุกคน"ว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีแผนการพัฒนาระยะ 20 ปี(2561 – 2570)ของท่าอากาศยาน 28 แห่งและท่าอากาศยานเบตง ที่อยู่ในความรับผิดชอบ วงเงินประมาณ 34,507 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่การพัฒนาสนามบินหลัก 3 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เพื่อรองรับผู้โดยสารรวมที่ 120 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินภูมิภาค 28 แห่ง มีเป้าหมายพัฒนาเพื่อรองรับผู้โดยสารรวมที่ 58 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันมี 30 ล้านคน โดยประเมินจากอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 6.6 %ต่อปี นอกจากนี้จะต้องยกระดับสนามบินภูมิภาค หรือสนามบินเมืองรอง ให้เป็นสนามบินนานาชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของการโอน ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4 แห่ง คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานตาก และท่าอากาศยานขุมพร ไปให้ AOT เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการ นายไพรินทร์กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจรที่ จังหวัดชุมพรได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว และขณะนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณารายละเอียดในเรื่องการถ่ายโอนให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังด้วย

ส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในการพัฒนาสนามบินของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งจะต้องเลือกสนามบินที่น่าสนใจจูงใจเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุน และเป็นการช่วยลดการลงทุนในส่วนของภาครัฐลง ซึ่งจะทำให้การบริหารและพัฒนาสนามบินของไทย จะมีทั้งที่รัฐลงทุนคือ สนามบิน 24 แห่งของ ทย. ส่วนที่รัฐวิสาหกิจ คือทอท. 6 แห่ง บวกกับโอนจากทย.อีก 4 แห่ง และสนามบินอู่ตะเภาที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน จะมีความหลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี และเป็นทางเลือกในการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม สนามบินภูมิภาคในความรับผิดชอบของ ทย.นั้น มีการคิดอัตราค่าจอดเครื่องบินและลดค่าใช้สนามบินลง (Landing & Parking) ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (Passenger Service Charge : PSC) ที่ถูกกว่าทอท. ดังนั้น 4 สนามบินที่โอนให้ทอท. จะมีการพัฒนาและบริหารภายใต้แนวทางของทอท. ซึ่งจะมีการคิดค่าธรรมเนียมและบริการเหมือนสนามบินของทอท. ซึ่งจะสอดคล้องกับการยกระดับบริการ ทั้งนี้ การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในเบื้องต้นมีสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินเพชรบูรณ์ สนามบินนครราชสีมา สนามบินบุรีรัมย์ และ สนามบินหัวหิน

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า การพัฒนาท่าอากาศยานในครั้งนี้ ถือเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคระยะ 20 ปี ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย เพื่อรองรับการเติบโตด้านการคมนาคมทางอากาศ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต โดยจัดสรรงบประมาณในช่วงการพัฒนา 10 ปีแรก (2561 – 2570) ประมาณ 34,507 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2561 – 2565 ปรับปรุงท่าอากาศยาน 17 โครงการก่อสร้างใหม่ 1 ท่าอากาศยาน วงเงินลงทุน 27,248 ล้านบาท ปี 2566 – 2570 ปรับปรุงท่าอากาศยาน 8 โครงการวงเงินลงทุน 7,259 ล้านบาท ส่วน ปี 2571 – 2580 กรมท่าอากาศยานอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ นอกจากจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยานแล้ว กรมท่าอากาศยานยังให้ความสำคัญกับชุมชน โดยมีการจัดสรรพื้นที่เช่าภายในท่าอากาศยาน ให้สินค้าท้องถิ่นหรือวิสาหกิจชุมชนสามารถใช้ถพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่เช่าทั้งหมด นอกจากนี้ ยังยกระดับสู่การเป็นสนามบินศุลกากร โดยติดตั้งระบบ C.I.Q. (Customers Immigration Quarantine) เพื่อให้ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ต้องผ่านการเดินทางหลายสนามบิน สามารถเช็คอินสัมภาระและสินค้าต่างๆ จากต้นทางสู่ปลายทางเพียงครั้งเดียวได้เลย และยังมีการเปิดพื้นที่ท่าอากาศยานให้เป็นฐานฝึกให้โรงเรียนการบิน เพื่อผลิตบุคลากรทางการบินที่มีศักยภาพ และเพียงพอตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคในอนาคตด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ