กรมธนารักษ์ เผย"บ้านคนไทยประชารัฐ"หาผู้พัฒนาแล้ว 6 โครงการ เคาะราคาบ้าน 3.5-7 แสนบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 17, 2018 07:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการบ้านคนไทยประชารัฐว่า ตามที่กรมธนารักษ์ได้ดำเนินโครงการ "บ้านคนไทยประชารัฐ" ในพื้นที่ราชพัสดุ 8 จังหวัดนั้น ล่าสุด 6 โครงการที่อยู่ในพื้นที่ราชพัสดุจังหวัดชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, อุดรธานี, เชียงใหม่ ขอนแก่น และเชียงรายได้มีการเปิดประมูลเพื่อหาผู้ลงทุนพัฒนาที่ราชพัสดุเพื่อก่อสร้างและบริหารโครงการเรียบร้อยแล้ว ยกเว้นจังหวัดนครพนมที่ยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง และจังหวัดลำปางอยู่ระหว่างกรมธนารักษ์ส่งเงื่อนไขการประมูลให้จังหวัดดำเนินการเปิดประมูลต่อไป ซึ่งคาดว่าโครงการในส่วนของจังหวัดนครพนม และลำปาง จะสามารถเปิดประมูลได้ในปี 62

ทั้งนี้ โครงการบ้านคนไทยประชารัฐใน 8 พื้นที่ดังกล่าว ได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างไว้ 3 รูปแบบ คือ 1.บ้านแฝด พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร 2.บ้านแถว พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร และ 3.อาคารชุดพักอาศัย พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร โดยมีราคาอยู่ในระดับ 350,000-700,000 บาท/หน่วย

สำหรับคุณสมบัติของประชาชนที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการบ้านคนไทยประชารัฐได้นั้น ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก จะต้องเป็นประชาชนผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มสอง เป็นประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาท/เดือน และกลุ่มสาม เป็นประชาชนทั่วไป แต่ทั้งนี้ กรมธนารักษ์จะให้สิทธิการพิจารณากลุ่มเป้าหมายแรกก่อน แล้วจึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ ทั้ง 8 จังหวัดนี้ มีจำนวนที่อยู่อาศัยรวมกันประมาณ 2,700 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมประมาณ 1,400 ล้านบาท อัตราค่าเช่าผ่อนชำระไม่เกิน 4,500 บาท/เดือน ซึ่งเมื่อผู้ได้รับสิทธิผ่อนชำระค่าเช่าที่อยู่อาศัยตามเงื่อนไขของบริษัทเอกชนที่ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการแล้ว จะได้รับการโอนกรรมสิทธิ์อาคาร, สิ่งปลูกสร้างตามสัญญา และได้เป็นผู้เช่าโดยตรงกับกรมธนารักษ์

น.ส.อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงขั้นตอนการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัยในโครงการดังกล่าวนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และกรมธนารักษ์ จะร่วมกันพิจารณา โดยมีแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่อาจไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร โดยให้นำเงินไปฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารในอัตราผ่อนชำระค่าเช่าประมาณ 9 เดือน หรือตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด เพื่อแสดงถึงความสามารถและวินัยในการผ่อนชำระ ซึ่งเมื่อผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัยในโครงการฯ ผ่านการ Pre Approve กับธนาคารแล้วก็จะให้นำเงินฝากก้อนนั้นเป็นเงินดาวน์ของผู้ประกอบการ

รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน ได้เข้ามาสนับสนุนวงเงินสินเชื่อสำหรับดำเนินโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ โดยมีกรอบวงเงิน 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. สินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) ซึ่ง ธอส. และธนาคารออมสิน กำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1-3 ในอัตรา 3% ต่อปี หลังจากนั้น MLR-ไม่เกิน 1% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ 2. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1-4 ในอัตรา 2.75% ต่อปี หลังจากนั้น ถ้าเป็นกรณีรายย่อย คิดอัตรา MRR -0.75% ต่อปี หรือถ้ากรณีสวัสดิการหักเงินเดือน จะคิดอัตรา MRR -1% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อเดือน (DSR) หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (DTI) ตามที่ธนาคารกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ