น.ส.อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกรมธนารักษ์ในปีงบประมาณ 2561 ว่า กรมธนารักษ์คาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60 - ก.ย.61) ได้ราว 11,342 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7,400 ล้านบาท ถึง 153% โดยแบ่งเป็น รายได้ด้านที่ราชพัสดุ 9,593 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 150% และรายได้ด้านเหรียญกษาปณ์ 1,740 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 172% ซึ่งการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา
สำหรับการบริหารจัดการที่ราชพัสดุในหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตนั้น ล่าสุดการเจรจากับภาคเอกชนได้มีข้อสรุปในสาระสำคัญแล้ว และคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ใน 1-2 สัปดาห์ โดยจะมีการปรับรูปแบบโครงการลงทุนบนที่ดินของหมอชิตเดิมเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 ล้านบาท จากเดิม 18,000 ล้านบาท บนพื้นที่ใช้สอย 7 แสนตารางเมตร ชดเชยคืนให้รัฐ 1.2 แสนตารางเมตร พร้อมมอบผลตอบแทนในรูปของเงินสด 600 ล้านบาท และในรูปของทรัพย์สิน คือ อาคารที่สร้างชดเชยให้อีก คิดเป็นมูลค่า 2,400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐได้รับประโยชน์จากผลตอบแทนทั้งหมดรวม 3,000 ล้านบาท
"หากผ่าน ครม. เราก็ทำสัญญาก่อสร้างได้เลย โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี จะเป็นรูปแบบของ Complex ขนาดใหญ่ มีศูนย์การค้า, โรงแรม, อพาร์ตเม้นท์, ที่จอดรถแบบจอดแล้วจร เป็นต้น" น.ส.อมรรัตน์ กล่าว
สำหรับการนำที่ราชพัสดุมาสนับสนุนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น กรมธนารักษ์ได้ส่งพื้นที่ราชพัสดุให้กับสำนักงาน EEC จำนวน 7,000 ไร่ เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม 6,500 ไร่ และเขตนวัตกรรม 759 ไร่ โดยให้สำนักงาน EEC นำไปบริหารจัดการต่อตามอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งเป็นการมอบเอกสิทธิ์ในการบริหารจัดการทั้งหมด แล้วแต่จะมอบหมายให้หน่วยงานหรือเอกชนรายใดเข้าดำเนินการ ส่วนกรณีที่สำนักงาน EEC จะมีการเจรจากับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างไรนั้น ในส่วนนี้กรมธนารักษ์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง
ส่วนโครงการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น ได้มีข้อสรุปในการเจรจากับเอกชนแล้ว คือจะมีการปรับปรุงศูนย์ประชุมสิริกิติ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยมูลค่าโครงการลงทุน 6,000 ล้านบาท ผลตอบแทน 5,100 ล้านบาท แทนจากเดิมที่จะมีการลงทุนก่อสร้างในรูปแบบของโรงแรม ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของอัยการสูงสุดก่อนที่จะมีข้อสรุปนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่าในปี 62 จะเริ่มทำสัญญาก่อสร้างได้
ขณะที่การพัฒนาโครงการศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะโซน C พื้นที่ใช้สอย 5.1 แสนตารางเมตรนั้น พบว่ามีส่วนราชการถึง 13 หน่วยงานแสดงความจำนงขอเช่าพื้นที่ วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หาก ครม.เห็นชอบก็คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์จะใช้แนวทางการระดมทุนแบบผสม ทั้งการกู้เงินในประเทศเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการทำซีเคียวริไทเซชั่นอีกทางหนึ่งด้วย