นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายน 2561 โดยจะหารือต่อเนื่องจากการประชุมครั้งแรกที่ศรีลังกา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเจรจาข้อบทความตกลงฯ ครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiating Committee) และการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง 7 ชุด ได้แก่ 1) คณะทำงานด้านการค้าสินค้า (WG-TIG) 2) คณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (WG-ROO) 3) คณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (WG-SPS) 4) คณะทำงานด้านการเยียวยาทางการค้า (WG-TR) 5) คณะทำงานด้านการค้าบริการ (WG-TIS) 6) คณะทำงานด้านการลงทุน (WG-Investment) และ 7) คณะทำงานด้านกฎหมาย (WG-LII) โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วม อาทิ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมศุลกากร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ BOI
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายจะหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอัตราภาษีและกฎระเบียบทางการค้า ควบคู่ไปกับการเจรจาหลักการและรูปแบบการลดภาษีสินค้าระหว่างกัน (Modalities) เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้าและสามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในปี 2563 ตามที่นายกรัฐมนตรีของไทยและประธานาธิบดีศรีลังกาได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในการประกาศเปิดการเจรจา FTA ไทย – ศรีลังกา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ในช่วงการเดินทางเยือนศรีลังอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทย ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นว่า FTA ไทย-ศรีลังกา จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563
ในปี 2561 (ม.ค. – ก.ค.) ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยการค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 319.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.7 โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา 271.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากศรีลังกา 47.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ศรีลังกาเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในภูมิภาคเอเชียใต้ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่ทันสมัย และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางทะเล (Marine Hub) ที่สามารถเชื่อมโยงสู่ยุโรป อเมริกาเหนือ และแอฟริกา รวมถึงตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ Belt and Road ของจีน นอกจากนี้ ศรีลังกายังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอัญมณีและประมง ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ