นายจุมภฎ หิมะเจริญ ผู้อำนวยการกองวิจัย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวในการเสวนา "อนาคตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย วิเคราะห์โอกาสเกิดอุตสาหกรรมใหม่รองรับพลังงานสะอาด"ว่า กฟน.ศึกษาแผนการพัฒนาและนโยบายของรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คาดว่าจะมีจำนวนถึง 1.2 ล้านคันภายใน 18-19 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 79 โดยมีการศึกษากฎระเบียบและประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสำหรับระบบชาร์จไฟ
ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา กฟน.ร่วมกับ บมจ.เดลต้า อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เริ่มทำโครงการรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีบริการชาร์จไฟเพื่อศึกษาและเตรียมความพร้อม ประกอบกับมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับการอำนวยความสะดวก ในการหาสถานีบริการชาร์จไฟจากการมีการเชื่อมโยงกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าด้วย
นอกจากการให้ความสำคัญรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลแล้ว กฟน.ยังมีการประสานงานเพื่อทดลองการจ่ายไฟฟ้าให้รถบัสไฟฟ้า (อี-บัส) ที่นำมาทดลองวิ่ง ขณะที่รัฐบาลมีแผนการซื้อรถบัสไฟฟ้าจำนวนกว่า 200 คัน ซึ่ง กฟน.ยินดีสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ เมื่อใดที่รถไฟฟ้าเข้ามา สถานีชาร์จไฟก็พร้อมที่จะให้บริการ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมทางกฏหมาย อัตราค่าบริการสำหรับผู้ที่จะให้บริการสถานีชาร์จไฟ
ขณะเดียวกันมองว่าการขายไฟฟ้าให้ยานยนต์ยังเป็นการค้าแบบเสรี ซึ่งผู้มีความประสงค์หรือผู้ประกอบการสามารถติดต่อ กฟน.ในการนำสถานีชาร์จไฟฟ้าไปติดตั้งที่บ้านได้
ด้าน ผศ.อมรรัตน์ แก้วประดับ เลขาธิการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า สมาคมฯ มีการส่งเสริมการวิจัยและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า จากที่ผ่านมามีการผลักดันให้เกิดมาตรฐานผ่านการจัด "Work Group" ในการหาแนวทางและมาตรฐานที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและสามารถปรับใช้กับประเทศไทยได้ โดยมีการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนสถานีชาร์จไฟฟ้า
ปัจจุบันมองว่าสถานีชาร์จไฟฟ้ามีเพียงพอต่อการใช้งานและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลมีการติดตามมากขึ้น จากการมีร่วมมือกับหลายฝ่ายริเริ่มทำโครงการนำร่องแล้ว โดยเชื่อว่าอนาคตสามารถมีจำนวนเพียงพอต่อการรองรับยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1.2 ล้านคันในอีก 20 ปีได้
ขณะที่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเริ่มมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจมากขึ้นซึ่งเห็นได้จากการจัดงาน MOTOR SHOW ที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลจากภาครัฐที่มีมาตรการสนับสนุนให้มีการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการผลิตสถานีชาร์จไฟ, ชิ้นส่วนยานยนต์ และสนับสนุนการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวิจัยและเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อการใช้งานในอนาคตได้
"โอกาสของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีสัญญาณที่ดีเห็นได้จากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตรถแต่ละค่ายเริ่มเพิ่มจำนวนรุ่นเพิ่มมากขึ้น ส่วนโอกาสของการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือผู้นำการผลิตรถรถยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสเช่นกัน หากรัฐบาลสนับสนุนด้านการลงทุนเนื่องจากแรงงานของไทยมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนและเครื่องยนต์สันดาปภายในได้"ผศ.อมรรัตน์ กล่าว
ด้านนายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความรู้ความสามารถค่อนข้างมาก โดยเชื่อว่าอนาคตสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ ซึ่งบริษัทเองก็พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
บริษัทร่วมกับ กฟน.และสมาคมยานยนต์ฯ พัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้ามานานกว่า 6 ปี โดยเริ่มติดตั้งจากเมืองใหญ่ขยายไปในส่วนภูมิภาค โดยเน้นอุปกรณ์รุ่นใหม่เคลื่อนย้ายและติดตั้งได้ง่ายภายใน 30 นาที มีหัวจ่ายไฟได้ครบทุกแบบ สามารถเพิ่มกำลังการชาร์จไฟได้ตั้งแต่ 50-100 กิโลวัตต์ สามารถพัฒนารองรับรถอี-บัสหรือรถไฟฟ้าระบบขนส่งสาธารณะ