พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ...ซึ่งนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์เป็นผู้เสนอ
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นการทำระบบเกษตรแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ระบบผลิตเพาะปลูก การเพาะปลูก การแปรรูป การจัดจำหน่าย จะต้องคำนึงและรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อม โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลในแง่เศรษฐกิจ ในแง่สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและยั่งยืน
ทั้งนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดเอาไว้ว่าให้มีการสนับสนุนการผลิตภาคเกษตรไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อยกระดับผลิตภาพทางการเกษตรให้มีความมั่นคง ให้มีความยั่งยืน แต่ว่ากลไกยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้แนวคิดตามแผนปฏิรูปประเทศตามแผนสภาพัฒน์ ฉบับ 12 เป็นความจริง
สำหรับหลักการ มีดังนี้ มีการกำหนดคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้น มีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนงานที่จะส่งเสริมพัฒนาระบบเกษตรกรรมให้เกิดความยั่งยืน สนับสนุนให้มีการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่สำคัญคือกำหนดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติที่ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ต้องมีเป้าหมาย มีแนวทางที่ชัดเจน นอกเหนือจากนั้นยังกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน คือ กระบวนการอันมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกร เพื่อพูดคุยหารือในการกำหนดแนวทางเสนอให้หน่วยงานของรัฐนำไปดำเนินการ
พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างสาระสำคัญของกฎหมาย เช่น มาตรา 7 ที่ระบว่าการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนสามารถดำเนินการได้ด้วยมาตรการและวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายๆอย่างร่วมกันดังนี้ การให้เงินช่วยเหลือ รัฐจัดเงินอุดหนุนให้ หรือจัดการเพื่อให้การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในการทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืน รัฐใช้มาตรการทางสิทธิประโยชน์ทางภาษีรวมถึงใช้มาตรการทางสังคมเพื่อให้เกิดเกษตรกรรมที่ยั่งยืน มีการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในองค์ควารู้ที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืน มีการอุดหนุนให้เกิดการศึกษาและวิจัย มีการช่วยเหลือด้านกฎหมายตามที่ผู้ขอรับการส่งเสริมร้องขอ ให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรในเรื่องที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืน มีการสนับสนุนการดำเนินงานของสมัชชาเกษตรกรรม มีการกำหนดเขตระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมทั้งคุ้มครองพื้นที่สำหรับส่งเสริมระบบเกษตรกรรม
"มาตรการทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นกลไกในการทำให้เกิดความยั่งยืนในระบบเกษตรกรรม"พล.ท.สรรเสริญ กล่าว