พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และเกษตรกร ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ได้มีการหารือถึงข้อเสนอและการขอรับการสนับสนุนของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนระดับจังหวัด (กรอ.จังหวัด) ในหลายด้าน ประกอบด้วย 1.การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ 2.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ 3.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 4.การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรและการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร 5.การส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว 6.การพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอ
โดยส่วนแรกในเรื่องการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ข้อเสนอของ กรอ.จังหวัดมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 และภาคอีสานตอนบน 1 โดยโครงการ East - West Corridor ระยะทางรวม 777 กม.นั้น ได้มีการขยายถนนเป็น 4 เลนแล้ว 527 กม. ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการในช่วงที่เหลือ คือ ช่วงตาก-แม่สอด ระยะทาง 24.6 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ค.62 และช่วงหล่มสัก-น้ำหนาว ระยะทาง 82 กม.นั้น กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ปรับลดรูปแบบการดำเนินงานเท่าที่จำเป็น และรอศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนดำเนินการต่อไป
โครงการสะพานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนของสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 รวมทั้งถนนในฝั่งไทยได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว ยังเหลือการก่อสร้างถนนในฝั่งเมียนมาอีก 77.5% ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย.62 และในส่วนของสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 62 และเปิดให้บริการในปี 65
ส่วนที่ 2 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สำหรับการขยายช่องจราจรทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 หล่มสัก-หล่มเก่า-ภูเรือ-เลย ซึ่งเป็นการเชื่อมแดนเพชรบูรณ์-เลย-ลาว สาย 21 ระยะทาง 135 กม.นั้น ดำเนินการไปแล้ว 10 กม. ยังเหลืออีก 125 กม. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ตอนผานกเค้า-วังสะพุง เชื่อมดินแดนเลย-ขอนแก่น ระยะทาง 31 กม. ขยายเป็น 4 ช่องจราจรแล้ว 10 กม. ส่วนที่เหลือจะเริ่มดำเนินการในปี 63, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 210 สายอุดรธานี-วังสะพุง เชื่อมดินแดนเลย-หนองบัวลำภู-อุดรธานี ระยะทาง 118.9 กม. ได้ขยายเป็น 4 ช่องจราจรแล้ว 88 กม. ส่วนที่เหลือจะเริ่มดำเนินการในปี 62
การเชื่อมต่อการขนส่งทางราง โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. มูลค่าการลงทุน 59,399 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66 ส่วนช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่าการลงทุน 25,842 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66 เช่นกัน ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 350 กม. ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือกับประเทศจีนนั้น คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 70 พร้อมกันนี้รัฐบาลไทยและลาวกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมเจรจาร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางรางระหว่าง 2 ประเทศ ในการก่อสร้างสะพานรถไฟข้าแม่น้ำโขงแห่งใหม่ หนองคาย-ลาว
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาเส้นทางรถไฟสายใหม่ 3 เส้นทาง คือ 1.ช่วงนครสวรรค์-แม่สอด ระยะทาง 256 กม. ซึ่งเป็นการเชื่อมแนว East - West Corridor 2.สายลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู ระยะทาง 392 กม. มูลค่าการลงทุน 1.1 แสนล้านบาท และ 3.สายจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย ระยะทาง 333 กม.
ส่วนการพัฒนาท่าอากาศยานนั้น ในส่วนของท่าอากาศยานแม่สอด ได้มีการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านคน/ปี จากเดิม 4 แสนคน/ปี รวมทั้งจะมีการก่อสร้างทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และเสริมผิวทางเวิ่งเดิม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 61 และการก่อสร้างความยาวทางวิ่งเพิ่มเติมจากเดิม 1,500 เมตร เป็น 2,100 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62 นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาท่าอากาศยานพิษณุโลก, ท่าอากาศยานเลย, ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์, ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานตากด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย (LIMEC) โดยได้ขอรับการสนับสนุนการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ LIMMEC ไว้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)
ส่วนที่ 3 การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ได้มีเร่งรัดให้ดำเนินการการพัฒนาระบบชลประทานลุ่มน้ำป่าสัก โดยการเสริมความจุอ่างเก็บน้ำคลองลำกง จ.เพชรบูรณ์ รวมทั้งพัฒนาโครงข่ายระบบโทรมาตรเครื่องวัดปริมาณน้ำ และการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งท้ายประตูระบายน้ำคอรุม จ.อุตรดิตถ์ นอกจากนี้ ยังให้มีการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำท้ายเมืองพิษณุโลก, ระบบผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา จ.ตาก เชื่อมโยง จ.สุโขทัย และ จ.กำแพงเพชร และการขยายคลองลอยจากเขื่อนผาจุก-ศรีสัชนาลัย-สวรรคโลก รวมถึงการขอรับการสนับสนุนการก่อสร้างระบบระบายน้ำในเมือง จ.บึงกาฬ การบรรเทาอุทกภัย อ.เมือง จ.บึงกาฬ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการ โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและการเชื่อต่อระบบการบริหารจัดการลุ่มน้ำหลักและคลองสาขาในพื้นที่ ตลอดจนสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ถึงประโยชน์ที่จะได้รับในทุกขั้นตอน
ส่วนที่ 4 ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต โดยมีโครงการที่ขอรับการสนับสนุน ดังนี้ 1.การจัดตั้งศูนย์พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมไม้ผลและพืชผักเศรษฐกิจภาคเหนือ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและหลังการเก็บเกี่ยวในการรับรองมาตรฐานของพืชผักและผลไม้ 2.การสนับสนุนการขยายพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ โดยการขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่การเกษตร พร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 3.การก่อตั้งศูนย์ Excellent Center เพื่อวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน SME โดยใช้ชื่อว่า "Sabai Dee Excellent Center for Local Development" เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปใเขตพื้นที่ 5 จังหวัด โดยใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี 4.การประกาศให้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เป็นคลัสเตอร์ยางพารา เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนายางพาราอย่างครบวงจร
"นายกฯ บอกว่าที่บึงกาฬเคยได้รับงบประมาณไปแล้ว 190 ล้านบาท จึงขอให้กระทรวงเกษตรฯ ไปดูว่าที่บึงกาฬมีความก้าวหน้าไปมากน้อยแค่ไหน เพราะยังไม่มีผลการรายงานมาอย่างชัดเจน ดังนั้นการจะมาขอคลัสเตอร์อีกที่ จึงยังไม่มีข้อมูลนัก จึงขอให้ไปดูผลการให้งบประมาณเดิม 190 ล้านบาทที่บึงกาฬก่อนว่าทำไปถึงไหน มีผลอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ แล้วค่อยมาพิจารณาอีกที เพราะการจัดตั้งคลัสเตอร์ ไม่ใช่แค่เรื่องพื้นที่เพาะปลูก และการแปรรูปเท่านั้น แต่มีผลถึงว่าแปรรูปแล้ว มีกำลังซื้อหรือไม่ นี่คือปัญหาที่ตามมา ดังนั้นกรณีนี้ ครม.จึงยังไม่ได้ตอบรับทั้ง 100% โดยขอให้ไปดูผลการดำเนินงานที่บึงกาฬก่อน" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
ส่วนที่ 5 ด้านการท่องเที่ยว ได้มีการขอรับการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทั้งด้านไฟฟ้าส่องสว่าง และการปรับปรุงถนนรอบคูเมืองชั้นใน, การผลักดันธรณีวิทยาจังหวัดเพชรบูรณ์ให้เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geo-parks, การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัด (เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) โดยขอให้จัดตั้งกลไกระดับชาติที่มาจากผู้แทนภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทดังกล่าวฯ และขอให้พิจารณาดำเนินการจัดให้มี Visa on Arrival โดยนำร่องที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย และท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี รวมทั้งการขอให้พิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ (VRT) ณ ด่านพรมแดนทางบก โดยนำร่องที่ด่านหนองคาย และร้านค้าในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1
"รมว.คลัง บอกว่าปกติแล้วการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวนั้น เราทำอยู่แล้ว แต่ทำที่ด่านที่เป็นท่าอากาศยาน แต่ด่านทางบกยังไม่เคยทำ ซึ่งเคยมีผลวิจัยจาก IMF พบว่ามีจุดอ่อนมากมายในการซื้อสินค้าและคืนภาษี ณ จุดผ่านแดนทางบก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการมั่ว คือซื้อสินค้าแล้ว แต่ไม่ได้นำสินค้าออกนอกประเทศจริง ดังนั้นกรณีนี้ขอไปหารือกับสรรพากร ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง สรุปว่าเรื่องนี้ยังไม่ตอบรับ แต่เรื่อง Visa on Arrival ที่หนองคายกับสนามบินอุดรฯ นั้นครม.รับไว้พิจารณา" พล.ท.สรรเสริญระบุ
ส่วนที่ 6 การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต ได้มีการขอรับการสนับสนุนดังนี้ 1. การพัฒนาเครือข่ายทางการแพทย์และการสาธารณสุขต้นแบบ ด้วยเทคโลโลยี Big Data, Artificial Intelligence หรือ AI และ Mobile Application เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และการดูแลตนเองของประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 (โครงการหมอรู้จักคุณ) ตลอดจนการขอให้พิจารณาเร่งรัดการก่อสร้างอาคารผ่าตัดรักษา รพ.เพชรบูรณ์ และอาคารผู้ป่วยนอก ศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน รพ.หล่มสัก การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพการบริหารสุขภาพโรงพยาบาลในจังหวัดเลย เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.สัญจรรับข้อเสนอจากการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 1 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดย ครม.ได้รับรองระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำใย (LIMEC) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน กับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจำเป็นต้องดูเรื่องกฎระเบียบของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะนอกเหนือจากความร่วมมือด้านคมนาคม ต้องมีความร่วมมือด้านดิจิทัล เพื่อการให้บริการให้สะดวกรวดเร็วขึ้น
ที่ประชุม ครม.ยังรับหลักการการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในการเชื่อมโยงคมนาคมทั้งระบบในกลุ่มภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในแผนแม่บทที่รัฐบาลจะดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนงบประมาณยังไม่ได้พูดถึง ซึ่งบางโครงการรับหลักการไว้ ซึ่งต้องนำมาพิจารณาอีกครั้ง โดยต้องคำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณด้วย
ที่ประชุมครม.รับข้อเสนอการพัฒนาระบบคมนาคมในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 1 ใน 10 จังหวัด รวมงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องนำมาบริหารจัดการไว้ในงบประมาณรายปี และงบผูกพันตามแผนแม่บท ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่อไปในการทำให้เกิดความต่อเนื่อง และทำให้เกิดความเชื่อมโยงกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบการพัฒนาแหล่งน้ำ การพร่องน้ำ และการระบายน้ำ สิ่งสำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่ต้องยอมเสียสละพื้นที่บางส่วน เพื่อทำทางระบายน้ำ
ส่วนการยกระดับสินค้าเกษตร ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับราคาสินค้าให้สูงขึ้น ขณะที่ปัญหาราคายางพารา ที่ประชุม ครม.ได้หารือว่าต้องยกระดับการทำยางพาราให้ครบวงจร โดยจะต้องไม่มีการขยายปลูกยางพาราไปมากกว่าเดิม เพราะรัฐบาลไม่สามารถจะหาตลาดรองรับผลผลิตที่เกินความจำเป็นได้ ดังนั้นรัฐบาลพยายามจะใช้หลักการตลาดนำการผลิต เพื่อยกระดับราคาสินค้าให้สูงขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เน้นย้ำการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในเมืองหลักและเมืองรอง และการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น มีข้อเสนอการขยายสนามบิน ซึ่งทราบว่าทุกจังหวัดต้องการมีสนามบิน แต่ต้องดูถึงความจำเป็นด้วยว่ามีสายการบินรองรับเพียงพอหรือไม่ เพราะหากไม่คุ้มค่าก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่จำเป็นต้องพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างสนามบินหลักกับสนามบินรอง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลัง พ.ร.บ.การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ประกาศใช้ ตนเองได้ฝากข้อคิดในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เกิดการเรียนรู้ การใช้เครื่องมือเครื่องจักร หรือทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ต้องการลดแรงงานทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานต่างด้าวที่ไร้ฝีมือ จึงจำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะแรงงานเหล่านี้ยังมีความจำเป็นอยู่
ขณะที่การแก้ไขปัญหาประมง กฎหมายที่ออกมากำลังพิจารณาทบทวนแก้ไขอยู่ เพราะส่งผลกระทบต่อด้านไหนบ้าง จึงขอความร่วมมืออย่าเพิ่งออกมาประท้วง ซึ่งรัฐบาลให้คำยืนยันว่าจะดูแลให้ดีที่สุด ซึ่งเรื่องทั้งหมดหากบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีการพัฒนาตามหลักวิชาการ มีแผนแม่บท เชื่อว่าประเทศจะไม่เกิดความวุ่นวายเกิดขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเกิดทุจริตที่มีส่วนราชการเข้าไปเกี่ยวข้องว่า ได้ฝากให้ทุกกระทรวงเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่ามีหลักฐานชัดเจนก็ต้องให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการตรวจหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยากให้ประชาชนได้ไว้วางใจกับรัฐบาลที่จริงจังในเรื่องนี้
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาจราจรว่า ได้พิจารณานำแนวทางการแก้ปัญหาจราจรใน จ.เลย ที่มีการใช้สัญลักษณ์เส้นแบ่งจราจร สีเขียว และสีฟ้า ตรงทางแยกและทางร่วม หรือพื้นที่ตามสี่แยกไฟแดง เพื่อกั้นพื้นที่ให้รถจักรยานยนต์ และรถยนต์อย่างเป็นสัดส่วน เพื่อลดปัญหาการจราจร ซึ่งจะนำมาพิจารณาใช้ในพื้นที่ กทม.ต่อไป