กรมประมง ขยายเวลาต่ออายุแรงงานต่างด้าว กำหนดให้ยื่นเรื่องภายใน 30 ก.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 18, 2018 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานในเรือประมงต้องมีหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว (Seabook) (เล่มเขียวหรือเล่มเฉพาะกิจเล่มเหลือง) แต่เนื่องจาก seabook เล่มเหลืองจะหมดอายุในวันที่ 30 ก.ย.61 ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการเรือประมงสามารถประกอบกิจการประมงได้อย่างต่อเนื่อง กรมประมงจึงได้เปิดให้ผู้ประกอบการมายื่นเรื่องขอ seabook เพื่อขยายระยะเวลาการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวของท่าน โดยการยื่นเรื่องขอ seabook ในปีนี้กรมประมงได้ขยายระยะเวลาในการยื่นเรื่องได้จนถึงก่อนวันที่ seabook จะหมดอายุ ซึ่งต่างจากเดิมที่จะต้องทำเรื่องยื่นขอก่อนล่วงหน้า 30 วัน

นอกจากการอำนวยความสะดวกดังกล่าวแล้ว ทางกรมประมงได้ร่วมกับกรมการจัดหางานจัดตั้งศูนย์ One Stop Service เพื่อให้บริการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ Seabook ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวแรงงานต่างด้าวเองเพราะหากแรงงานต่างด้าวจะมีเอกสารยืนยันตัวตนที่ชัดเจนเข้าสู่ระบบถูกต้องก็ทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับโอกาสในการทำงานมากยิ่งขึ้นและได้รับการดูแลสวัสดิภาพตลอดจนช่วยป้องกันปัญหาถูกเอาเปรียบจากนายจ้างได้อีกด้วย

สำหรับศูนย์ One Stop Service ที่ถูกจัดตั้งขึ้นจะให้บริการใน 4 ขั้นตอนหลัก คือ 1. ตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพ 2.ตรวจลงตรา VISA ให้อยู่ในราชอาณาจักร ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 และต่อได้อีก1 ปี 3.ออกหนังสืออนุญาตทำงานมีอายุ 1 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 และสามารถต่ออายุได้อีก 1 ปี และ 4. กรมประมงจะออกหนังสือคนประจำเรือหรือ seabook เล่มเขียว เพื่อทดแทนเล่มเหลืองที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 30 ก.ย. 61

ทั้งนี้ ศูนย์ One Stop Service จะเปิดให้บริการตั้งแต่บัดนี้ โดยผู้ประกอบการจะต้องใช้เอกสารประกอบการเพื่อยื่นขอหนังสือคนประจำเรือ ดังนี้ 1.หนังสือคนประจำเรือที่หมดอายุ 2. สำเนาใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3. สำเนาใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือ สำหรับเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป, 4.สำเนาใบทะเบียนเรือและสำเนาใบอนุญาตให้ใช้เรือ สำหรับเรือประมงที่มีขนาดน้อยกว่าสิบตันกรอส, 5. สำเนาหนังสือสัญญาจ้างให้ทำงานในเรือประมง

อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์นำแรงงานต่างด้าวมายื่นเรื่องต่ออายุหนังสือคนประจำเรือให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด หากไม่ดำเนินการดังกล่าวแรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถทำงานในกิจการประมงทะเลได้ต่อไป และยังส่งผลให้แรงงานต่างด้าวไม่มีสิทธิอยู่ในประเทศไทยและทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท สำหรับนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และกระทำความผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามมิให้จ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ