นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ รองผู้ว่าการวิชาการและบริหารพัสดุ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งซึ่งประกอบกับกฟน., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง National Energy Trading Platform (NETP) หรือ แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันจะเริ่มมีการซื้อขายระหว่างเอกชนด้วยกันเอง และหากมีพลังงานส่วนเกินเหลือและต้องการจะส่งขายกลับเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ ของ 3 การไฟฟ้า จึงต้องมีแพลตฟอร์ม NETP เข้ามาเป็นกลไกบริหารจัดการไฟฟ้าส่วนเกินไม่ให้สูญเปล่า หรือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ในการซื้อและขายไฟฟ้าระหว่างกัน โดยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ศึกษาด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 62
ทั้งนี้ หลังการศึกษาแล้วเสร็จก็จะเริ่มทดลองใช้ ซึ่งแต่ละการไฟฟ้าก็จะเข้าไปดูสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้เป็นพื้นที่ทดลองการซื้อขายตามแพลตฟอร์ม NETP ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีภาพที่ชัดเจนออกมา แต่การดำเนินการก็ยังต้องรอดูเรื่องแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ซึ่งมีการศึกษาเรื่องการเปิดรับซื้อไฟฟ้าแบบเปิดกว้าง (Open Market) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในส่วนของโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะสีเขียว T77 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบมจ.บีซีพีจี (BCPG) กับ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ที่มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเองนั้นก็อาจจะเข้ามาเชื่อมต่อระบบได้หากมีพลังงานส่วนเกินส่งกลับเข้าระบบ
ส่วนความคืบหน้าการอัตราค่าใช้บริการสายส่งระบบจำหน่าย (Wheeling Charge) สำหรับพื้นที่ T77 นั้น ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าใช้บริการ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดที่มีอีกค่อนข้างมากทำให้การซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวระหว่างเอกชนจะยังไม่เกิดขึ้นได้ในขณะนี้
นายกีรพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการที่มีเอกชนหันมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันมากขึ้น แม้อาจจะกระทบต่อรายได้ของกฟน.ในฐานะผู้จำหน่ายไฟฟ้าลดลงบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบมากนักเพราะน่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังจะมีรายได้จากการให้บริการสายส่งเข้ามาชดเชย รวมถึงอาจจะได้ซื้อไฟกลับคืนมาจากภาคเอกชนในราคาที่ถูกลงกว่าการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตในปัจจุบัน ขณะเดียวกันประเทศจะมีการใช้พลังงานสะอาดเข้ามากขึ้น และประชาชนจะได้สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน