ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 และ 2562 ในรายงานนโยบายการเงินเดือน ก.ย.61 โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ จะเติบโตได้ 4.4% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน การส่งออก ขยายตัว 9% การนำเข้า ขยายตัว 16.9% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 35.4 พันล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 1.1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 0.7% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 4.2% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.7% การอุปโภคภาครัฐ ขยายตัว 2.3% และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 6.1%
ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งประมาณเศรษฐกิจไทยดังกล่าว ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและมีความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจประกาศเพิ่มเติม และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูงตามสภาพภูมิอากาศ และปริมาณผลผลิต รวมทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต
"ราคาอาหารสดที่ยังผันผวนสูง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มศักยภาพ อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจบนโลกออนไลน์ หรือ E Commerce ซึ่งทำให้การแข่งด้านราคาที่สูงขึ้น" นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าว
สำหรับการส่งออกสินค้าชะลอลงบ้างจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิต ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบได้บางส่วน ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากโครงการลงทุนภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการลงทุนย้ายฐานการผลิตมายังไทย ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ , รถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถไฟชานเมืองเส้นทางบางซื่อ-รังสิต
"เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ 2 เรื่องที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ 1.นโยบายกีดกันทางการค้า ที่สุดท้ายแล้วจะต้องดูว่าได้ข้อตกลงที่ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยและจะเห็นผลกระทบชัดเจนในปี 2562 ซึ่งถ้าไม่มีปัจจัยเรื่องสงครามการค้าส่งออกปี 2562 จะขยายตัวได้มากกว่า 5% และ 2.การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ที่สุดท้ายแล้วต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งการประมาณการล่าสุดยังไม่ได้รวมปัจจัยด้านการเลือกตั้งเข้าไป" นายจาตุรงค์ กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น มองว่าค่าเงินของไทยยังมีภูมิคุ้มกันด้านต่างประเทศ ทั้งเงินบัญชีเดินสะพัด กองทุนสำรองระหว่างประเทศ และอัตราหนี้ต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินไม่มากนัก อย่างในช่วงที่ประเทศในตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets ค่าเงินอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเหรียญสหรัฐฯ แต่เงินบาทของไทยกลับแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกันบางช่วงที่สกุลบาทอ่อนค่า ก็เป็นการอ่อนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่
สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ นอกจากเรื่องสงครามการค้าที่ให้น้ำหนักมากที่สุด ได้แก่ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน การแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง อีกทั้งการก่อสร้างอาคารชุดเพื่อปล่อยเช่าซื้อยังคงมีปริมาณเหลืออยู่ในตลาดเป็นจำนวนมากในบางพื้นที่ ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ไม่ดีพอสมควร และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ส่วนในปี 2562 กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.2% เช่นเดียวกับประมาณการในครั้งก่อน โดยการส่งออกขยายตัวลดลงจากปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 4.3% การนำเข้า ขยายตัว 5.6% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 36.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1.1% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.8% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.7% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 4.5% การอุปโภคภาครัฐ ขยายตัว 2.2% และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 7.7%