นายมนตรี ศักดิ์เมือง รักษาการตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวในการเนวนา"กรุงเทพจตุรทิศ: ผ่า! ผังเมืองใหม่...พลิกโฉมกรุงเทพฯสู่มหานครโลก"ว่า กรมฯ เดินหน้าแผน "ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ" จากสถานการณ์ประชากรในกรุงเทพมีแนวโน้มลดลง แต่ประชากรในปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งประชากรแฝงในกรุงเทพ นนทบุรี และสมุทรปราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่มีการควบคุมจะทำให้ภาคมหานครสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม และเกิดการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยง และก่อให้เกิดปัญหาการจราจรด้วย
ขณะเดียวกัน ภาคกรุงเทพและปริมณฑลยังเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศและเอเซียน ซึ่งการพัฒนาโครงข่ายถนนส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชุมชนเมือง และอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันแผ่ขยายไปตามถนนสายหลักในจังหวัดโดยรอบ อย่างไรก็ตาม โครงข่ายคมนาคมขนส่งในปัจจุบันยังมีระบบเดินทางที่ไม่เชื่อมโยงกันนัก
อีกทั้งงานผังเมืองเป็นที่พูดถึงบ่อยครั้งในการบริหารของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และจัดการกิจกรรมการใช้พื้นที่ จากปัญหาการร่วมกันในการใช้พื้นที่ของหลายภาคส่วนที่แตกต่างกัน อาทิ ความต้องการใช้พื้นที่บางส่วนทำให้อาจสูญเสียพื้นที่การเกษตรในการทำกิจกรรมซึ่งไม่สมควร กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงจำเป็นต้องมีการจัดสรรการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข รวมไปถึงการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นในการพัฒนาการวางผังเมืองกรุงเทพและปริมณฑลจะต้องมีการกระจายศูนย์ (Polycenter) และทำให้แต่ละศูนย์มีความเชื่อมโยงกัน มีระบบโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่สอดคล้องกัน ซึ่งเมื่อมองถึงกติกาและข้อกำหนดของแต่ละศูนย์ในปัจจุบัน ยังมีความไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจทำให้บริเวณรอยต่อมีปัญหาได้
ปัจจุบันกรมฯ มีการดำเนินการร่างการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อยึดเป็นแม่แบบและมีผลบังคับใช้ต่อรัฐเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 เป็นรายมาตรา คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปี 61 นี้ ซึ่งความแตกต่างของร่างผังเมืองฉบับใหม่ คือ จะไม่มีการบังคับใช้ต่อภาคประชาชน แต่จะประกาศใช้เป็นกฎหมายเพื่อบังคับองค์กรเล็กของรัฐให้ยึดถือผังเมืองฉบับใหม่เป็นพื้นฐาน อาทิ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ
ด้านนายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการ สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สำนักผังเมือง กทม.คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ร่างผังเมืองฉบับใหม่ได้ภายในปี 62 ซึ่งประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ว่ามีความต้องการให้กรุงเทพมหานครมีผังเมืองอย่างไร ซึ่งหลักการและแนวคิดเบื้องต้นมาจากความต้องการปรับระดับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่จากการได้ประโยชน์จากรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
ในระยะถัดไปจะมีการเปิดพื้นที่ปิดล้อมเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ จากโครงข่ายถนนที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามผังเมือง และการขยายถนนตามโครงข่ายเดิม แต่ยังต้องมีการหารือเพื่อหามาตรการที่จะทำให้สามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่ใช้วิธีการเวนคืนที่ดินเนื่องจากจะกระทบต่อภาคประชาชน ซึ่งคาดว่าจะมีการร่วมกับภาคเอกชนเพื่อให้มีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีมาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) เพิ่มเติมจากมาตรการเดิม คือ 1.) การจัดให้มีพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการสัญจรบริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2.) การจัดให้มีพื้นที่ว่างเพื่อประโยชน์สาธารณะริมแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำสาธารณะ และ 3.) การจัดให้มีพื้นที่สำหรับใช้เป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็ก หรือสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมมาตการทางผังเมืองใหม่ ๆ ได้แก่ ข้อกำหนดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Planned Unit Development : PUD), การวางผังโครงการปรับปรุงพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร (Transit Orient Development : TOD) และมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (Tranfer of Development Right : TDR) ด้วย
https://youtu.be/a7FayE-9IVc