ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ท่าเรือแหลมฉบังจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 4 โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าประมาณ 1.1 แสนล้านบาท เพื่อให้การรับรองการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟ และเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมและจะรวบรวมเพื่อนำไปจัดทำร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) จากนั้นจะนำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.หรือ คณะกรรมการอีอีซี) และจึงจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา
ขณะเดียวกัน ทางท่าเรือแหลมฉบังเตรียมนำข้อมูลเพิ่มเติมกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ที่ให้แก้ไขครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)จะส่งในเดือนต.ค.นี้ด้วย
หลังจากนั้นคาดว่าจะเริ่มขายเอกสารเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน เบื้องต้นคาดว่าจะขายได้ในเดือนต.ค.นี้ และให้ระยะเวลาแก่เอกชน 3 เดือน และยื่นเสนอโครงการประมาณปลายปี หรือ ธ.ค.61 หรือต้นปี 62 โดยกทท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และอีก 6 หมื่นล้านบาทเอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ทั้งนี้คาดว่าลงนามกับเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกไม่เกินต้นเดือนมี.ค.62 และสร้างแล้วเสร็จในปี 66
ร.ต.ต.มนตรีกล่าวว่า การจัด Market Sounding ครั้งที่ 4 ได้มีเอกชนเข้ามาเพิ่ม โดยเอกชนได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มกิจการค้า หรือกลุ่มร่วมทุน ขณะนี้มีประมาณ กว่า 10 กลุ่ม โดยเป็นเอกชนทั้งจากไทย และต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกชนรายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจเดินเรือ
ทั้งนี้การขยายท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะสามารถรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้เพิ่มอีกประมาณ 7 ล้านทีอียูต่อปี จากปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบังรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 10.8 ล้านทีอียูต่อปี